สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดสำนักงานภาคเหนือ NIA Northern Regional Connect เดินหน้าต่อยอดการผลักดันเชียงใหม่ไปสู่การเป็นจังหวัดศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมในภูมิภาค ภาคเหนือ เพื่อทำหน้าที่เป็น System Integrator ในการเชื่อมโยงส่วนราชการท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และชุมชน โดยจะร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เช่น เทศบาล มหาวิทยาลัย อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค หรือ อว.ส่วนหน้า ในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาขับเคลื่อนนวัตกรรมระดับภูมิภาค
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. คือ ต้องการมุ่งเน้นการขับเคลื่อนประเทศให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยการผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของคน และการนำเอาองค์ความรู้แบบบูรณาการศาสตร์ ผนวกกับงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ในระดับภูมิภาค ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชน ที่พร้อมจะช่วยกันพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในพื้นที่ภูมิภาคให้พร้อมเติบโตและสามารถสร้างนวัตกรรมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยมี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมหรือการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย มีประเด็นท้าทายอยู่ 6 ด้านสำคัญได้แก่
1.จำนวนวิสาหกิจฐานนวัตกรรมไม่เพียงพอ (Lack of IBE) : ภาคเอกชนขาดความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม สนช. จึงมีแนวทางหรือเครื่องมื่อในการสร้างและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการผ่านแผนการดำเนินงานใน 3 ระยะ ได้แก่
•ระยะเริ่มต้น เครื่องมื่อในการสร้างและเพิ่มจำนวนนวัตกรรุ่นใหม่ในพื้นที่ เช่น โครงการ Pioneering Innovatior Network (PIN)
•ระยะเติบโต เครื่องมือส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม เช่น กลไกการสนับสนุนด้านการเงินผ่าน โครงการ Open Innovation หรือ Social Innovation
•ระยะขยายการเติบโต เครื่องมือการทำให้ธุรกิจนวัตกรรมเกิดการขยายตัวหรือเติบโตขึ้น เช่น กลไกการสนับสนุนด้านการเงินผ่าน โครงการนวัตกรรมดี…ไม่มีดอกเบี้ย หรือเชื่อมโยงการลงทุนผ่าน Investor นอกจากนี้ยังมีกลไกการสนับสนุนที่ไม่ใช้ด้านการเงินเช่น โครงการ “ม้านิลมังกร” เป็นต้น
2.ขาด “นวัตกร” ในระบบนวัตกรรมภูมิภาค : การขาดแคลนบุคคลากรหรือองค์กรที่ส่งเสริมด้านการพัฒนานวัตกรรม ทั้งที่เป็นหย่วยงานภาครัฐและภาคการศึกษา สนช. จึงมีแผนการดำเนินงานใน 3 ระยะ ได้แก่
•ระยะเริ่มต้น เครื่องมือในการสร้างและเพิ่มจำนวนบุคคลากรและองค์กรในฝั่งภาครัฐและภาคการศึกษา เช่น โครงการ Public and Private Chief Innovation Leadership (PPCIL) หรือ โครงการ Chief City Innovation Officer (CCIO) รวมทั้ง โครงการ Pioneering Innovatior Network (PIN)
•ระยะเติบโต เครื่องมือในการบริหารจัดการองค์กรนวัตกรรม เช่น โครงการประเมินศักภาพองค์กรนวัตกรรม
•ระยะขยายผล การเชื่อมโยงระหว่างฝั่งผู้รับบริการและผู้ให้บริการงานนวัตกรรม สนช. จึงพยายามทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงาน และให้บริการการสนับสนุนการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม เช่น Web Application ด้านข้อมูลเชิงพื้นที่และการบริการในด้านต่างๆ
3.กฏระเบียบไม่ตอบสนอง หรือเอื้อต่อการสร้างและใช้นวัตกรรม : ปัญหาที่เกิดจากกฎระเบียบและปัญหาของกฎหมายที่มีความล้าหลัง สนช. จึงมีแผนในการดำเนินงานคือ การจัดทำภาพการอนาคตเชิงพื้นที่ (foresight) และแนวทางการแก้ไขปัญหา และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้กฎระเบียบหรือข้อกฎหมายที่มีปัญหา และยังรวมถึงโครงการจัดทำพื้นที่ทดลองต้นแบบ (City Lab)
4.การพัฒนานวัตกรรมที่รวมศูนย์ : ปัญหาการกระจุกตัวของการทำนวัตกรรมอยู่นะเฉพาะเมืองใหญ่ สนช. จึงเพิ่มช่องทางและการพื้นที่ในการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ผ่าน การจัดทำระเบียง เมือง และย่านนวัตกรรมในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการจัดตั้ง สนช. สำนักงานภูมิภาค
5.การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม : การขาดการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ สนช. จึงพยายามทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ในการจัดกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ร่วมกันเพื่อให้เกิดการต่อยอดการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานให้ได้มากที่สุด เช่น โครงการม้านิลมังกร หรือการจัดตั้ง หน่วยบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมทั้งด้านเศรษฐกิจ (Certified Incubator) และสังคม (Social Innovation Driving Unit : SID)
6.การสร้างเมืองนวัตกรรมระดับโลก : ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างประเทศ สนช. จึงพยายามทำความร่วมมือทางด้านการเชื่อมโยงเครือข่ายต่างประเทศ ผ่านหน่วยการทูตนวัตกรรม (Innovation Diplomacy) รวมถึงการจัดตั้ง Startup Global Hub ที่ให้บริการด้าน Smart VISA ให้กับชาวต่างชาติ ที่ทำงานด้านนวัตกรรมในประเทศ
สำนักงาน NIA Northern Regional Connect มีพื้นที่ขนาดประมาณ 130 ตารางเมตร ห้อง B301 ชั้น 3 (อาคารB) ภายในอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่