Link : www.facebook.com/nicclubcm
โทรศัพท์ : 084-527-7576/063-779-6664
เคยได้ยินไหม…คำพูดที่ว่า “ฝนตกก็แช่ง ฝนแล้งก็ด่า” คนเราจะไม่รู้สึกว่าธรรมชาติเกี่ยวข้องกับตัวเองเลยจนกว่าจะได้รับผลจากสิ่งนั้นเข้าอย่างจัง เราไม่สนใจหรอกว่าคนบนดอยจะถางป่าปลูกข้าวโพดมากขนาดไหน จนกว่าเดือดร้อนเพราะน้ำป่าและดินโคลนถล่มเมือง เราไม่แคร์หรอกว่าเหมืองแร่แถวบ้านจะทำอะไร จนกว่าญาติของเราจะป่วยเพราะสารตะกั่วในเลือดเกินค่ามาตรฐานโดยไม่มีทางรักษาให้หาย
“ทุกวันนี้ คนเราเห็นเรื่องใกล้ตัวเป็นเรื่องไกลตัวเกินไป” ลุงตั๋น มณีโต อดีตเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียวประเภทบุคคลในปี 2547 และคนต้นเรื่องในรายการค้นคนคนพูดยิ้มๆ แต่ในรอยยิ้มนั้นมีแววตาของความกังวลซ่อนอยู่
“คนรุ่นใหม่เกิดมาก็เจอเทคโนโลยีแล้ว จอสี่เหลี่ยมเล็กๆ จอสี่เหลี่ยมใหญ่ๆ อยู่ในห้อง อยู่ในตึก ชีวิตมันแข็งกระด้าง โอกาสที่เขาจะได้เห็นสีเขียวของต้นไม้ ฟังเสียงน้ำไหล เสียงนกร้อง เสียงแมลงร้อง มันแทบไม่มีเลย”
ลุงตั๋นทำงานบนดอยอินทนนท์–ผืนป่าที่ได้ชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยมานาน 30 กว่าปี มีภาพจำความงดงามอันน่าตื่นตะลึงของขุนเขาแห่งนี้มากมายจนอยากแบ่งปันให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมชื่นชม
“ดอยอินทนนท์มีความหลากหลายของพืชและสัตว์อย่างมาก เพราะเป็นแนวเขาสุดท้ายที่เชื่อมต่อมาจากเทือกเขาหิมาลัย มีพืชเฉพาะถิ่นหลายอย่างเช่น กุหลาบพันปี ลุงชอบสำรวจเส้นทางเดินแปลกๆที่คนอื่นยังไม่มีใครไปถึงเสมอ ในฤดูหนาว ป่าทั้งป่าจะมีแต่ต้นไม้ใหญ่ขนาด 4-5 คนโอบอยู่ท่ามกลางไอหมอก ซึ่งเขียวครึ้มไปด้วยมอสที่ปกคลุมเกือบทั้งหมด มีเฟิร์นทั้งหลายเกาะอยู่เต็มไปหมด มองแล้วเย็นตา มีน้ำไหลรินในป่าหลายสาย เป็นน้ำที่ใสมาก ริมขอบธารน้ำก็มีดอกไม้พวกเทียนป่า บิโกเนีย ออกดอกเต็มไปหมดมันสวยงามจริงๆ (ตาเป็นประกาย) นี่เป็นภาพที่ติดตาตรึงใจลุงมาตลอด เพราะมนุษย์เราไม่มีทางจะสร้างสรรค์แต่งแต้มความงามแบบนั้นได้เลย”
แน่นอนในป่าที่สมบูรณ์ย่อมเชื้อเชิญผู้ล่าจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาตัดต้นไม้และล่าสัตว์ กวางผาถือเป็นสัตว์ที่พบได้ยากยิ่งประเทศไทย แต่ยังคงพบได้บนยอดดอยสูงแห่งนี้ และหัวใจของผู้พิทักษ์ที่เอาชีวิตปกป้องผืนป่านี่แหละที่ทำให้ชีวิตของลุงตั๋นไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป
ในปี 2535 อากาศร้อนและแล้ง ไฟป่าเกิดขึ้นทั่วไปหมด เจ้าหน้าที่ป่าไม้ต่างรู้ดีสถานการณ์เช่นนี้แหละที่เรียกร้องให้ผู้ล่าออกล่าได้ง่ายดายขึ้น เพราะสัตว์ป่ารวมกลุ่มจะหนีไฟไปอยู่ตามร่องลำธาร ซึ่งช่วยให้ล่าได้ง่ายโดยแทบไม่ต้องออกแรงเลย และสายข่าวก็รายงานพบการบุกรุกป่าเพื่อล่าสัตว์จริงๆ
เสียงหมาเห่ากับร่องรอยของผู้ล่าพบเห็นได้อย่างชัดเจนบนเส้นทางรกทึบ ลุงตั๋นและทีมผู้พิทักษ์แบ่งกันตีโอบจากสองด้านทั้งซ้ายและขวา เขาอาศัยข้อได้เปรียบจากร่างกายที่แข็งแรงและคล่องตัวล่วงหน้าเพื่อนไปก่อน หวังจะไปถึงผู้ล่าให้ทันท่วงที จนพบเป้าหมายในที่สุด
“เดินไปได้สักครึ่งทางก็ได้ยินเสียงชัดขึ้น และเริ่มเห็นคนล่าแล้ว เขาเอาผ้าพันหน้าไว้ กำลังเดินขึ้นมาจากแนวลำห้วย ในมือถือปืนเอาไว้และนิ้วมืออยู่ในตำแหน่งพร้อมจะลั่นไกได้ตลอดเวลา”
ลุงตั๋นเห็นว่าตัวเองอยู่ไกลเกินกว่าที่จะชาร์จผู้ล่าได้อย่างปลอดภัย จึงพยายามเคลื่อนไหวเพื่อเขยิบเข้าไปให้ใกล้ขึ้นอีกนิด แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น กิ่งไม้แห้งที่ถูกเหยียบหักเป็นจุดเริ่มต้นของอันตรายที่กลับมาทำร้ายตนเอง
“เขาหันมาเห็นลุง ลุงเลยเข้าชาร์จเลย จากนั้นเขาก็วิ่งหนี พอวิ่งตามไปสักพัก เข้าเขตป่าทึบและมองไม่เห็นคนล่าแล้ว ระหว่างหันไปหันมาสักพักก็ได้ยินเสียงปีนดังขึ้น “ปัง” พร้อมกับความรู้สึกร้อนที่ใบหน้า พอเอามือลูบดูก็เห็นว่าเป็นเลือดเต็มหน้าไปหมด ตอนนั้นทุกอย่างเริ่มพร่าไปหมดแล้ว”
กระสุนจากผู้ล่าพุ่งกระแทกดวงตาข้างซ้ายเข้าเต็มแรง โชคยังดีอยู่ที่ผู้ล่าคนนั้นตัดสินใจหลบหนีแทนการปลิดชีพเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ไม่นานนักทีมงานที่เหลือจึงตามมาสมทบและพากับหอบร่างที่ใบหน้าโชกเลือดเดินป่าออกมาอีกหลายชั่วโมงเพื่อพาขึ้นรถไปโรงพยาบาลในตัวเมืองเชียงใหม่
“ลุงโดนยิงตอนบ่ายโมง กว่าจะขึ้นรถมาถึงโรงพยาบาลก็ประมาณหกโมงเย็น แถมยังผ่าตัดไม่ได้ด้วยเพราะไม่มีเลือดสำรอง …หลังการผ่าตัด หมอมาตรวจดูพร้อมกับบอกว่า ‘ต้องควักตาซ้ายออก‘ นาทีนั้นความรู้สึกมันหมดสิ้นเลย (เสียงเครือ) เหมือนกับไม่มีตัวตนเหลือ ทุกอย่างเหมือนตกลงไปที่พื้น รู้สึกแย่กับชีวิตมากๆ แย่กับสิ่งที่ทำมาตลอดชีวิต เราทำงานมายี่สิบกว่าปี พยายามรักษาต้นไม้ รักษาสัตว์ป่า แต่สิ่งที่เราได้รับคือการสูญเสียดวงตาไปข้างหนึ่ง มันเจ็บปวด (น้ำตารื้น)”
ตลอดการรักษาที่อยู่ในดวงตาทั้งสองข้างความมืดนานนับเดือน แม้หัวใจจะเต็มไปด้วยความคั่งแค้นอาฆาต แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ตั้งคำถามสำคัญกับตัวเอง มันเป็นคำถามที่เปลี่ยนชีวิตเช่นกัน
“ลุงเริ่มมาทบทวนว่า สิ่งที่เราทำไปนั้นมันได้อะไรขึ้นมา เราทุ่มเททุกอย่าง ทำงานทั้งกลางวันกลางคืน แล้วคนหยุดตัดไม้ไหม ก็ไม่ มีคนหยุดล่าสัตว์ป่าไหม ก็ไม่ แล้วเราจะแน่ใจได้ยังไงว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นมันถูกต้องจริงๆ”
เขาตระหนักอย่างลึกซึ้งในหัวใจ ลำพังการป้องปราบและจับกุมไม่ใช่วิธีการที่ได้ผลอีกต่อไป การขยายแนวร่วมหาคนมาช่วยกัน “รักษ์” ป่าต่างหากถึงจะแก้ปัญหาได้ยั่งยืน จากจุดนั้น ลุงตั๋นเริ่มต้นจากทุนทรัพย์ส่วนตัวออกเดินสายไปพูดคุยกับชุมชนรอบๆ ผืนป่าวันแล้ววันเล่า
“เราวางปืนไว้นอกหมู่บ้าน แล้วเดินเข้าไปหาเขาอย่างจริงใจ ไปบ่อยๆให้เขา “เชื่อใจ” “ไว้ใจ” เอาความรู้สึกที่มีในใจของเราไปพูด ไปบอกกับคนที่เขาเห็นตรงข้ามกับเราให้เขา “เข้าใจ” ว่าทำไมต้องรักษา ทำไมต้องดูแลต้นไม้ ทำไมต้องดูแลสัตว์ป่า มันเกี่ยวอะไรกับเรา ในระยะยาว และมันจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรายังทำลายแบบนั้นอยู่”
นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำงานการสื่อความหมายธรรมชาติ ที่มีเป้าหมายสำคัญให้คนได้เข้าใจระบบความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆบนโลกใบนี้ที่มีต่อกันในธรรมชาติ และเห็นความสำคัญของทุกสรรพสิ่งทั้งดิน น้ำ ป่า เขา และชีวิตน้อยใหญ่ของพืชสัตว์ร่วมโลก จากผู้ล่าชาวบ้านเริ่มหลายคนเริ่มกลายเป็นแนวร่วมพิทักษ์ป่า ช่วยสอดส่องดูแลผืนป่าอันสมบูรณ์ แน่นอนคนอยู่กับป่าย่อมเป็นผู้รักษาป่าได้ดีที่สุดถ้าเขามีความเข้าใจที่ถูกต้อง
จากวันนั้นจนวันนี้ที่ลุงตั๋นเกษียณอายุราชการแล้ว แต่หัวใจของผู้พิทักษ์ยังไม่เคยจางหายไป งานที่ได้ริเริ่มทำมา 10 กว่าปี ตอนนี้เริ่มถูกส่งต่อในมือของเด็กๆ ที่เป็นอนาคตและเป็นความหวังของประเทศชาติ ผ่านกิจกรรมค่ายศึกษาธรรมชาติในอำเภอดอยหล่อซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเขาเอง
“เด็กๆ รุ่นใหม่เกิดในสังคมที่มีแต่เทคโนโลยี เขาควรได้มีโอกาสสัมผัสธรรมชาติบ้าง ได้สัมผัสสายน้ำที่สวยงาม ผืนป่าที่สมบูรณ์ ฟังเสียงนก เสียงแมลงในป่าที่เงียบๆ ป่าจะช่วยขัดเกลาจิตใจของมนุษย์ให้สงบลงได้เอง ลุงก็เพียงทำหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์ให้เด็กๆ ได้ร่วมเรียนรู้และเข้าใจว่าทำไมสิ่งมีชีวิตต่างๆควรต้องพึ่งพาและเกื้อกูลกันผ่านเรื่องราวที่สำคัญคือ น้ำ สัตว์ป่า และป่าไม้ ลุงมีความหวังนะกับเด็กๆทุกคน เพราะเขาคือคนรุ่นต่อไปที่จะมาอยู่ทดแทนพวกเรานี่แหละ ลุงเชื่อมั่นว่าถ้าเด็กรุ่นใหม่มีความเข้าใจเรื่องธรรมชาติ เขาก็รักษาธรรมชาติเอาไว้ได้ และโลกใบนี้ต้องดีขึ้นแน่ๆถ้าเราช่วยกันขยายความรู้นี้ออกไปให้กว้างไกลที่สุด” ลุงตั๋นกล่าวมั่นใจ
วันหนึ่งที่คนเรามีความเข้าใจย่อมเกิดความรัก และในความรักนั้นเองที่จะช่วยให้เกิดความหวงแหนและปกป้องรักษาคงธรรมชาติบนโลกใบนี้คงอยู่ได้สืบไป
ตราบใดที่น้ำในโลกใบนี้ยังพึ่งพาสายฝน เราย่อมต้องการป่าไม้เป็นถังเก็บน้ำใบใหญ่ ตราบใดที่ผืนดินที่เราหยัดยืนยังเป็นต้นกำเนิดของพืชพรรณอาหารที่พวกเราบริโภค เราย่อมต้องการแผ่นดินที่ปลอดภัยจากสารเคมี ธรรมชาติไม่เคยเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเพียงแค่เราหายใจนั่นก็คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติแล้ว ไม่ว่าจะเราจะรู้หรือไม่ก็ตาม
ใครสนใจเข้าร่วมกิจกรรมธรรมชาติหรือต้องการเชิญลุงตั๋นและทีมงานเด็กๆรุ่นใหม่ไปเป็นวิทยากรจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่โรงเรียนและองค์กรต่างๆ ติดต่อไปได้ที่ชมรมนักสื่อความหมายธรรมชาติ NIC ส่วนค่ายประจำปีจัดในเดือนเมษายนและตุลาคมของทุกปี ในราคาเพียง 200 บาทสำหรับการร่วมกิจกรรม 4 คืน 5 วัน ที่เห็นว่าราคาย่อมเยาว์เพราะลุงตั๋นอยากเปิดโอกาสให้คนหลากหลายฐานะเข้ามาร่วมเรียนรู้ได้โดยไม่มีข้อจำกัด และใครที่อยากร่วมบริจาคข้าวสาร อาหาร หรือขนมเพื่อใช้ในกิจกรรมค่ายศึกษาธรรมชาติก็แจ้งความประสงค์ได้เช่นเดียวกันเพราะท้ายที่สุดแล้วการช่วยเหลือธรรมชาติก็คือการช่วยเหลือเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้อยู่รอดได้นี่เอง