กระทบ 1.4 หมื่นร้านค้า!!! พนักงานเกือบแสนคนเตรียมตกงาน สมาคมร้านอาหารยื่นประยุทธ์ทบทวนผ่อนปรนคำสั่งห้ามลูกค้านั่งทานอาหารในร้าน เผยเป็นลมหายใจสุดท้ายของผู้ประกอบการ หลังกระทบหนักมานานนับปี

พนักงานเกือบแสนคนเตรียมตกงาน เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 30 เม.ย.64 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่บริเวณด้านหน้าอาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายธนิต ชุมแสง นายกสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่ พร้อมตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหารหลายแห่ง เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายเจริญฤทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เรียกร้องให้ทบทวนมาตรการห้ามนั่งรับประอาหารภายในร้านของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นหนึ่งในหกจังหวัดที่ ศบค.ยกระดับให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้มและเพิ่มมาตรกาควบคุมป้องกันโรคระบาดตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม นี้

ทั้งนี้ทาง นายธนิต เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่มีร้านอาหารทุกประเภท ทั้ง ร้านอาหารทั่วไป สตรีทฟู้ดส์ และ ร้านกาแฟ มากกว่า 14,000 ร้าน


มาตรการดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการและพนักงานที่มีอยู่กว่า 80,000 คน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เชื่อว่าจะมีพนักงานอีกจำนวนมากที่จะต้องตกงานจากคำสั่งล่าสุดนี้



สถานการณ์โรคโควิด 19 ของจังหวัดเชียงใหม่ดีขึ้นตามลำดับ ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับที่ผ่านมาบรรดาร้านอาหารก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของจังหวัดอย่างเคร่งครัด ทั้งมาตรการป้องกันโรคและเวลาเปิดให้บริการและไม่มีรายงานว่าร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อ การยกระดับให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้มจึงดูไม่สมเหตุผล
นายธนิต กล่าวว่า ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ร้านอาหารทุกแห่งยอดขายหายไปกว่าร้อยละ 80 จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 แม้จะอนุญาตให้ลูกค้าซื้อกลับบ้านได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมของลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการที่จะนั่งรับประทานอาหารในร้านมากกว่าสั่งกลับบ้าน ขณะที่การให้บริการผ่านแอพลิเคชั่นส่งอาหารก็ส่งผลทั้งกับผู้ซื้อที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มจากราคาปกติ ส่วนผู้ขายก็ต้องถูกหักเงินให้กับแอพลิเคชั่นเหล่านี้

โดยในส่วนของการเข้ายื่นหนังสือครั้งนี้จึงเพื่อวิงวอนให้ ศบค. พิจารณาทบทวน ให้ร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถเปิดให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารในร้านได้ ภายใต้มาตรการที่เคยปฏิบัติมาอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการและพนักงานที่ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว

ขณะที่ทางด้าน นางสุนิสา ธุวานนท์ ตัวแทนร้านอาหารชื่อดังแห่งหนึ่ง บอกว่า ทุกวันนี้ลูกค้าแทบไม่เข้ามาที่ร้านเพราะทุกคนงดออกบ้านป้องกันติดเชื้อ การให้ร้านอาหารต้องพึ่งพาแอพลิเคชั่นรับส่งอาหาร ทำให้ต้นทุนเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องเสียค่าจีพีให้กับแอพลิเคชั่น จนแทบไม่เหลืออะไรเลย ช่วงเวลานี้เรียกว่าเป็นช่วงที่ร้านอาหารหายใจอย่างรวยริน หลายร้านต้องปิดตัวลงเพราะประคองไปต่อไม่ไหว ที่เหลืออยู่ก็ยื้อสุดชีวิตเพราะยังเป็นห่วงพนักงานที่ต้องกินต้องใช้ หากภาครัฐไม่เห็นความเดือดร้อน ไม่เข้ามาช่วยเหลือเยียวยา คาดว่าอีกหลายร้านจะทยอยปิดตัวเพิ่มมากขึ้น


Relate Posts :