วันนี้อยากจะเล่าให้ทุกคนฟังถึงการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค COVID-19 ซึ่งเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า เมื่อฉีดแล้วเราก็ยังมีโอกาสในการติดเชื้อได้ การป้องกันที่ดีคือการ สวมหน้ากากอนามัย ตลอดจนล้างมือบ่อยๆ ก็เหมือนที่เคยทำนั่นแหละ การฉีดวัคซีนคือการสร้างภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรง(เมื่อเกิดการติดเชื้อ)
เอาละเรามาพูดถึงการรับวัคซีนของผมก่อนเลย การรีวิวในครั้งนี้คงเป็นการรีวิวที่สุดในชีวิตที่ได้บรรยายให้ทุกท่านได้รับรู้ เพราะต้องเอาร่างกายอันบอบบางของผมมาเป็นตัวพิสูจน์ ซึ่งในช่วงเวลานี้ก็ยังไม่ครบ 24 ชั่วโมงของการฉีด (เหลือประมาณ 4 ชั่วโมงจะครบ) ผมนั้นได้รับการนัดหมายในการฉีดวัคซีนที่ โรงพยาบาลนครพิงค์ เชียงใหม่ เมื่อเราไปจะได้รับบัตรคิวเพื่อลำดับในการรับการฉีดวัคซีน จากนั้นแล้วเราจะต้องกรอกเอกสารถึงประวัติส่วนตัว มีโรคประจำตัว มีประวัติการแพ้ยา หรือ มีความดันสูง เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการฉีดวัคซีน เมื่อถึงคิว ก็ต้องเข้าไปวัดอุณหภูมิ วัดความดัน และ ยื่นเอกสาร พร้อมบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่ และจะมีลำดับขั้นตอนในการซักประวัติ และการอัพโหลดลงฐานข้อมูลกลาง จากนั้นแล้วก็เข้าไปฉีดได้เลย
เมื่อเข้าห้องฉีด ความสนุกก็เกิดขึ้น เพราะในห้องมีเจ้าหน้าที่ถึง 3 ท่าน ท่านแรกจะนำเอกสารของเราไปสแกนเพื่อลงฐานข้อมูล เพราะว่าการฉีดจะต้องมีข้อมูลของวัคซีน หมายเลขอะไร ตลอดจนถึงใครเป็นคนฉีด และใครเป็นผู้รับวัคซีน 3 อย่างนี้จะต้องลงในฐานข้อมูลประวัติของเรา ซึ่งมันจะไปโผล่ใน แอป “หมอพร้อม” ซึ่งจะอัพเดทภายในเวลาต่อมา (ประมาณช่วงค่ำหลังฉีด) เจ้าหน้าที่อีกท่าน ทำหน้าที่ฉีดยาให้เรา ร้อยทั้งร้อยบอกว่า มือเบามากแทบไม่รู้สึก (ถามเพื่อนทุกคนบอกตรงกัน) และเจ้าหน้าที่อีกท่าน มีหน้าที่ถ่ายรูปให้เราเพื่อให้เราได้ภาพสวยๆ (ใครๆก็อยากได้ภาพตรงนี้)
เมื่อฉีดแล้วออกจากห้องก็จะได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ว่าเราต้องโหลดแอป หมอพร้อม และ กำหนดเวลาให้เราพักอยู่อีกห้องซึ่งมีเก้าอี้ให้นั่งพักและดื่มน้ำ ซึ่งเราจะต้องอยู่รอดูสังเกตุอาการ 30 นาที ให้ครบตามเวลา เพื่อสังเกตุอาการดูผลข้างเคียงเวลานั้นเราก็นั่งคุยกับเพื่อน หรือ เล่นโทรศัพท์ เมื่อครบเวลาแล้ว เราก็ไปยังขั้นตอนสุดท้ายคือการรับใบนัด โดยยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่เพื่อออกใบนัดครั้งต่อไป (จริงๆแล้วใน แอปพลิเคชั่น หมอพร้อม ก็มีบอกในเวลาต่อมา) แต่ขั้นตอนสุดท้ายทุกท่านจะได้รับใบเตือนด้วยว่าต้องดื่มน้ำเยอะๆ หรืออาจจะพบผลข้างเคียงอื่นๆ ว่าอาจจะมีไข้อ่อนๆ หรือเวียนหัว และนอกจากนั้นยังมีข้อปฏิบัติ ในเรื่องของการดื่มกาแฟ และ งดดื่มแอลกอฮอลล์ ตลอดไปจนถึงการออกกำลังกาย
กลับมาที่ side effect (ผลข้างเคียง) ที่เกิดกับตัวผมซึ่งเกิดขึ้นแน่ๆ นั่นคือเมื่อฉีดแล้ว เกิดอาหารหิวข้าวสุดๆ (ไม่ได้กินข้าวเที่ยงรึเปล่าว ??) แต่ผมไม่ได้เป็นคนเดียว มีเพื่อนก่อนหน้านั้น (ฉีดก่อน1วัน) ก็เป็นแบบเดียวกันคือหิว ลำดับต่อมาผมก็ร้อน(เหงื่อออกเยอะมาก) พี่ท่านหนึ่งก็บอกแบบภาษาชาวบ้านคือ ข้างในร่างกายเรามันกำลังต่อสู้กันอยู่ (แหมมเหมือนสนามรบ) และ สิ่งที่สำคัญคือการดื่มน้ำเยอะๆ (ผมต้องพกขวดน้ำใหญ่ไปด้วยตลอด) ส่วนสำคัญคือเราจะปวดแขน(ข้างที่ฉีด) หมอก็ไม่แนะนำให้ยกของหนักหรือทำงานหนัก (พักผ่อน)
ในตอนเช้าสิ่งที่ต้องทำคือการเข้าไปยัง แอปหมอพร้อม และส่งแบบประเมินอาการหลังฉีดวัคซีน เพียงเท่านี้เราก็ใช้ชีวิตตามปกติ คือการสวมหน้ากาก อนามัยอยู่ตลอด และ ล้างมือบ่อยๆ ระมัดระวังในการจับของใช้ที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น และ รอฉีดวัคซีนเข็มต่อไปในระยะเวลาที่กำหนดคืออีกประมาณ 2 สัปดาห์สิ่งที่อยากให้ทุกคนมองคือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทุกคน เขาทำงานหนักจริงๆ และมีความเสี่ยง อันนี้ขอคาราวะด้วยหัวใจ เลยนะครับ
สรุปรีวิวการ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด โดยรวม
1.การฉีดในครั้งนี้ผมไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากเป็นไปตามปกติ
2.ไม่ได้กลัวเข็มเพราะมั่นใจน้องพยาบาลว่ามือเบามาก (เบาจริง) ใจดีด้วย
3.บรรยากาศการฉีด สบายๆ พี่น้องพยาบาลน่ารักอารมณดี ดูแล้วสบายๆ
4.ผลกระทบเดียวที่เป็นเหมือนกันหลายคนคือ “หิวข้าว” + “เจ็บแขนเล็กน้อย”
5.ตื่นนอนมารู้สึกอ่อนแรงเพลียเล็กน้อยและอย่างที่บอกแหละครับดื่มน้ำเยอะๆ
ข้อมูลประกอบการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด
ในส่วนของ ชนิดของวัคซีน COVID-19 จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก มีการคิดค้นวัคซีนโควิด-19 โดยหลายบริษัทผู้ผลิตและหลายรูปแบบ วิธีการผลิตวัคซีนหรือที่มาของวัคซีนมีหลายวิธีการ แต่ทั้งหมดคือให้ต่อต้านไวรัสโคโรนาซาร์โควี-2 (SAR-CoV-2) ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายเพื่อไปก่อโรคได้ โดยที่ไวรัสนี้จะมีส่วนที่เป็นไกลโคโปรตีนยื่นออกจากเซลล์เรียกว่าสไปค์ (Spike) จะไปจับกับตัวรับ (Receptor) ที่อยู่บนเซลล์ในร่างกาย เช่น ที่ทางเดินหายใจหรือลำไส้ เมื่อจับกันแล้วไวรัสก็จะเข้าสู่ร่างกายและไปก่อโรค โดย 4 วิธีการที่มีการผลิตมากที่สุด ได้แก่
1. messenger RNA (mRNA) vaccine เป็นวัคซีนที่มีส่วนที่กำกับการสร้างโปรตีนของไวรัส SAR-CoV-2 ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อฉีดวัคซีนแล้วร่างกายจะสร้างโปรตีนชนิดนั้นขึ้นมาและทำลาย mRNA ที่ฉีดเข้าไป จากนั้นร่างกายจะรับรู้ว่าโปรตีนที่สร้างขึ้นมานั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา
2. Viral Vector เป็นวัคซีนที่ตัดต่อทางพันธุกรรมโดยการใช้สารทางพันธุกรรมของไวรัส SAR-CoV-2 ใส่เข้าไปในตัวไวรัสชนิดอื่นที่ไม่ก่อโรค (เรียกไวรัสนี้ว่า Viral Vector) เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกายแล้ว Viral Vector จะพาเอาสารพันธุกรรมนั้นเข้าไปในเซลล์ของเรา ทำให้เกิดการสร้างโปรตีนที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัส SAR-CoV-2 ขึ้นมา จากนั้นร่างกายจะรับรู้ว่าโปรตีนที่สร้างขึ้นมานั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา
3. Inactivated Virus Vaccine หรือวัคซีนเชื้อตาย ผลิตโดยการเลี้ยงไวรัสชนิดนี้ให้ได้ปริมาณมากแล้วมาทำให้ตายด้วยสารเคมีหรือความร้อน เมื่อฉีดวัคซีนแล้วร่างกายจะรับรู้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา
4. Protein Subunit Vaccine เป็นการผลิตวัคซีนมาจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อไวรัส SAR-CoV-2 ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อฉีดวัคซีนแล้วร่างกายจะรับรู้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา
มาเข้าเรื่องของผมต่อ ทุกคนสงสัยแน่นอนว่าผมได้รับวัคซีนอะไรในการฉีดครั้งนี้ ต้องบอกเลยว่าผมได้รับวัคซีน “ซิโนแวต” เป็นวัคซีนในแบบ Inactivated Virus Vaccine เป็นการใช้เทคโนโลยีที่นำเชื้อโควิด และทำให้อ่อนแรงลง จนไม่สามารถทำอันตรายได้ และนำเข้าร่างกายเรา จนภูมิฯ ของเราจดจำเชื้อไวรัสนี้ และเมื่อเชื้อเข้ามาก็จะไปจัดการ ซึ่ง ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แถลงที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ที่ผ่านมาว่า เทคโนโลยีนี้ เป็นเทคโนโลยีเดิมแต่มีราคาสูง เพราะต้องไปจัดการเชื้อให้อ่อนแรงไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย ซึ่งได้ผลประมาณ 50% ที่เพียงพอต่อการเกิดภูมิคุ้มกัน โดยเทคโนโลยีนี้คือเทคโนโลยีเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งปลอดภัยมาก
วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้ขึ้นมา ช่วยป้องกันการติดเชื้อหาก
ได้รับเชื้อในอนาคต แต่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งหลังฉีดวัคซีนร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ การฉีดวัคซีนผู้รับวัคซีนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น
โดยปกติเมื่อเชื้อโรคทุกชนิดเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะมีวิธีจัดการเชื้อหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือเม็ดเลือดขาวชนิด Macrophage จะกลืนเชื้อเข้าไปและทิ้งเศษซากเชื้อบางส่วนไว้เรียกว่า แอนติเจน (Antigen) ร่างกายจะรับรู้ว่าแอนติเจนคือสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างแอนติบอดี (Antibody) มาจัดการสิ่งแปลกปลอมนั้น รวมถึงมีเม็ดเลือดขาวอีกชนิดหนึ่งที่จำว่าเชื้อโรคนี้คือสิ่งแปลกปลอม ถ้าหากได้รับเชื้อในอนาคตร่างกายจะสามารถจดจำและจัดการได้ การทำงานของวัคซีนเป็นไปในลักษณะเดียวกัน
ขอบคุณการรีวิวจาก : กรวุฒิ อาศนะ / นักวิชาการสื่อมวลชน