สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชวนติดตาม 2 ปรากฏการณ์ ส่งท้ายเดือนเมษายน 2564 “ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพมหานคร” ชาวกรุงเตรียมไร้เงา วันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 12:16 น. และ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน ในวันอังคารที่ 27 เมษายน 2564 เวลา 22:25 น.
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เผยว่า ปลายเดือนเมษายนนี้ ยังมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจถึง 2 ปรากฏการณ์ด้วยกัน ได้แก่
“ดวงอาทิตย์ตั้งฉากเหนือพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ในวันที่ 26 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 12:16 น. หากยืนกลางแดด ในเวลาดังกล่าว เงาจะตกอยู่ใต้เท้าพอดี ทั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะโคจรอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับประเทศไทย ครั้งแรก ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เริ่มจากใต้สุดของประเทศ ณ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่มาอยู่ในแนวตั้งฉากกับพื้นที่เหนือขึ้นไปเรื่อยๆ และจะตั้งฉากกับพื้นที่เหนือสุดของประเทศไทย ณ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 เวลาประมาณ 12.17 น. ข้อมูลการเกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากทั้ง 77 จังหวัดในประเทศไทยติดตามได้ที่ https://www.narit.or.th/index.php/news/1696-sun-77-2564
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ระหว่างละติจูด 5-20 องศาเหนือ ส่งผลให้ในหนึ่งปี ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะ หรือตั้งฉากกับพื้นที่ดังกล่าวถึง 2 ครั้ง เมื่อยืนกลางแดดในวันและเวลาดังกล่าว จะสังเกตเห็นเงาของร่างกายทอดอยู่ใต้เท้าพอดี ไม่เฉียงไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยจะมีคาบการโคจรพาดผ่านแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดของประเทศไทยจึงเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะไม่พร้อมกัน สำหรับดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับกรุงเทพฯ ครั้งต่อไป จะตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 12:22 น.
การที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลกทำให้ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่ แต่อุณหภูมิจะสูงที่สุดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณฝน เมฆ อิทธิพลจากมรสุม ความร้อนสะสมในบรรยากาศ ฯลฯ วันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากจึงอาจไม่ใช่วันที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดเสมอไป
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งปรากฏการณ์ชวนติดตามอย่างยิ่ง คือ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) คืนวันอังคารที่ 27 เมษายน 2564 เวลา 22:25 น. ดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะทาง 357,370 กิโลเมตร คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย
ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบใช้ระยะเวลาประมาณ1เดือน ดังนั้นในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 356,400 กิโลเมตรและตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกเห็นดวงจันทร์ใหญ่กว่าปกติในคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวง ไกลโลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: [email protected] Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @NARIT_Thailand, Instagram : @narit_thailand
- 17 เมษายนนี้ ชวนชม “ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” ในไทยหาชมยาก
- เชียงใหม่ย้ำไม่ล็อคดาวน์ตามแผนที่โซนสี แค่ขอความร่วมมืองดเดินทาง ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันลงดลงเป็นวันแรก คาดสถานการณ์จะดีขึ้น หลังพบ ปชช.ให้ความร่วมมือตามมาตรการ