ชมพูพันธุ์ทิพย์ ความงามในยามร้อนที่เชียงใหม่

ใครจะไปนึกล่ะครับว่า ตรงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ในยามหน้าร้อนแบบนี้ จะมีอะไรที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมากันแถวนั้นแถมสิ่งที่กระชากหัวใจนักท่องเที่ยว ก็ดูจะถูกช่วงเวลากันอีกซะด้วย เข้าทำนองประมาณว่า รอปล่อยให้ชาวบ้านปล่อยของเสร็จ แล้วเราจะปล่อยหมัดเด็ดน็อกครั้งเดียวเลย

หมัดเด็ดน็อกประเภทโป้งเดียวจอดที่ว่านั้นคือ ความงามสะพรั่งของดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ ออกดอกสีชมพูสวยเด่นตระการตาท้าลมร้อนบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ กลางเมืองเชียงใหม่บางคนขับรถผ่านมองไกลๆ นึกว่าดอกซากุระญี่ปุ่นกันด้วยซ้ำ!แต่สำหรับผมแม้ไม่ได้จบทางด้านพืชพรรณไม้งามอะไรมา ก็พอจะรู้ว่าไม่ใช่ซากุระญี่ปุ่น หรือนางพญาเสือโคร่งแน่ๆ ทั้งจากลำต้น ในช่วงเวลาออกดอกก็ซากุระญี่ปุ่นหรือนางพญาเสือโคร่งที่ไหนจะมาผลิดอกเอาตอนนี้กันเล่า?

ชมพูพันธุ์ทิพย์ ตอนแรกๆผมก็ไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามหรอกครับ ตอนเดินไปเก็บภาพมา ถามไถ่ลุงกวาดถนนแกบอกว่า ดอกพวงชมพู เราก็นะ พวงชมพูก็พวงชมพูกลับถึงห้องเปิดคอม ถามอาจารย์กูเกิ้ลปรากฏว่า มันไม่ใช่นะครับจากพวงชมพูเพิ่งมารู้เอาที่หลังจากแฟนเพจ ททท.เชียงใหม่ว่า มันคือ ดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ ต่างหากเล่า


ชมพูพันธุ์ทิพย์ หรือชื่อสามัญในนาม Pink Tecoma หรือถ้าอยากเรียกแบบในทางชื่อวิทยาศาสตร์ เขาเรียก Tabebuia rosea

ไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง  สูงราว 8-12 เมตร ใบเป็นแบบผสม  มีใบย่อย 5 ใบบนต้นเดียวกัน  แผ่ออกคล้ายใบปาล์ม  ผิวไม่เรียบ  ปลายใบแหลม  ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร  กิ่งก้านสาขาแผ่ออกเป็นพุ่มค่อนข้างแน่น    ชมพูพันธุ์ทิพย์  ใบแก่จะะทิ้งใบในฤดูหนาว  ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม  หลังจากนั้นจะออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน

โดยดอกจะออกเป็นช่อตามกิ่งก้าน  ช่อละ 5-8 ดอก  ดอกย่อยลักษณะคล้ายดอกผักบุ้งหรือปากแตร  คือโคนดอกเป็นหลอดยาวปลายดอกบานออกเป็น 5 กลีบ  กลีบดอกบาง ย่นเป็นจีบๆ และร่วงหล่นง่าย  สีของกลีบดอกปกติเป็นสีชมพูสดใส  แต่มีความเข้มและจางแตกต่างกันไป  โดยเฉพาะต้นที่เกิดจากเมล็ดจะมีความผันแปรมากมาย  ตั้งแต่สีชมพูจางเกือบขาวไปจนถึงสีเข้มเกือบเป็นสีม่วงแดง และเมื่อดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ร่วงหล่นแล้ว  จะติดฝักรูปร่างคล้ายมวนบุหรี่ การขยายพันธ์ ก็อาศัยการเพาะเมล็ดหรือการตอนกิ่งกันเอา


สำหรับต้นกำเนิดดั้งเดิมของชมพูพันธุ์ทิพย์นั้น  อยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้  ต่อมาได้ถูกนำไปปลูกในเขตร้อนทวีปต่างๆ อย่างแพร่หลายรวมทั้งประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยคนที่นำมันมาเข้าประเทศครั้งแรกคือ  กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต  และ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์  บริพัตร  และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำเข้าจึงพากันตั้งชื่อให้มันว่า “ชมพูพันธุ์ทิพย์”  ซึ่งชื่อเดิมๆของมันคือ ตาเบบูย่านอกจากจะสวยงามแล้ว ประโยชน์ทางสมุนไพรก็ยังมี ใบเอาไว้ใช้ต้มแก้เจ็บท้อง ท้องเสีย หรือตำให้ละเอียดใส่แผลก็ยังได้ครบเครื่องกันซะขนาดนี้ ถ้าเปรียบชมพูพันธุ์ทิพย์กับผู้หญิงแล้วคงต้องว่า “เก่ง สวย รวย และฉลาด”ว่าแต่ตอนนี้ผมหลงรักพวกมันเข้าให้แล้ว เผลอๆอาจจะมากกว่าซากุระญี่ปุ่นและนางพญาเสือโคร่งด้วยซ้ำ ในฐานะที่เหมาะกับสภาพอากาศร้อนแบบบ้านเรา

ปล.ใครอยากเห็นความงามสามารถแวะไปดู ถ่ายรูปกันได้ แถวอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ไปกันช่วงเย็นๆอากาศน่าจะเหมาะสุดๆครับ

Relate Posts :