ใครจะไปนึกล่ะครับ ว่าเรื่องมันไม่เป็นเรื่อง จะเกิดเป็นเรื่องที่เราไม่คิดว่ามันจะเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน
“คนที่ไม่รักษาเวลา คือคนที่ฆ่าตัวเอง” นอกจากคำกล่าวที่ว่าแล้วผมยังอยากจะขอเสริมกันอีกว่า ถ้าใช้ภาษาพูดในการบอกเวลาผิด นอกจากการจะฆ่าตัวเอง มันยังหมายถึงด้วยว่าเราฆ่าคนอื่นกันอีกด้วย
เรื่องของเรื่องก็คือปกติเวลาผมพูดเรื่องเวลา ถ้าเป็น 09.00 น. ผมจะพูดว่า เก้าโมงเช้า หรือ สามโมงเช้า หรือถ้าทางการหน่อยก็ เก้านาฬิกา
ปัญหาของมันก็คือ คนที่นี้ (คนเชียงใหม่ ส่วนจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือไม่แน่ใจ) ไม่รู้ว่า สามโมงเช้า มันคือเวลาไหนกันแน่
ผมพยายามชี้แจงแถลงไขให้มิตรรักสหายที่นี้ได้ฟังว่า สามโมงเช้า ของผม มันก็คือ เก้าโมงเช้าของพวกเค้านั้นแหละ
อ้าว แล้วทำไมไม่เรียกว่า เก้าโมงเช้า ไปเลยจะเรียกสามโมงเช้ากันทำไม ในเมื่อเข็มสั้นนาฬิกามันก็กระดิกไปหยุดตรงเลขเก้านิ
เออ บ้านผมที่อีสานรวมทั้งที่อื่นที่เคยไปมาทั้งชีวิตเขาก็เข้าใจความหมายตรงกันหมด
“มีคนบอกว่าเอ็งบ้านนอก คนพูดว่า สามโมงเช้า มีแต่คนโบราณแหละเข้าเรียก” เพื่อนผมพูดใส่ไม่หยุด พลางส่ายหน้าไม่ค่อยจะยอมรับกับการเรียกเวลาของผมเท่าไหร่ เพราะทำให้สับสน
“โอเค บ้านนอกก็บ้านนอก” ผมบอก พร้อมอธิบายต่อว่า จริงๆ มันก็ไม่มีอะไรมาก แค่นาฬิกากระดิกเลยเลข 6 หรือเลข 12 พวกเราก็นับใหม่เป็น 1-2-3-4-5-6 จากนั้น ก็นับใหม่เป็น 1-2-3-4-5-6 กันเหมือนเดิม
เพื่อความกระจ่าง ขอเปรียบกันง่ายๆ
7.00 น. เจ็ดโมงเช้า หนึ่งโมงเช้า, 8.00 น. แปดโมงเช้า สองโมงเช้า, 9.00 น. เก้าโมงเช้า สามโมงเช้า, 10.00 น. สิบโมงเช้า สี่โมงเช้า, 11.00 น. สิบเอ็ดโมงเช้า ห้าโมงเช้า
ถ้าเลยเที่ยงวันไป หรือ 12.00 น. นั้นแหละ ก็จะเป็นแบบนี้
13.00 น. บ่ายโมง บ่ายหนึ่ง, 14.00 น. บ่ายสอง, 15.00 น. บ่ายสาม สามโมงเย็น, 16.00 น. บ่ายสี่ สี่โมงเย็น, 17.00 น. บ่ายห้า ห้าโมงเย็น, 18.00 น. หกโมงเย็น
ส่วนการเรียกแบบกลางคืนก็จะเหมือนๆกัน อาจจะมีต่างกันตรงที่ 24.00 น. หรือ 00.00 น. อาจจะเรียกว่า เที่ยงคืน หรือ หกทุ่ม
อนึ่ง ถ้าสังเกตกันดีๆ จะมีบางช่วงเวลาที่จะเรียกคล้ายๆกัน…
อ่านมาถึงกันตรงนี้คาดว่าคงไม่งงกันนะครับ หรือถ้างงกันยังไง ไว้ไปคุยกับคู่กรณีที่จะถามไถ่เวลากันเอาก็แล้วกัน
ขออย่างเดียว อย่าเข้าใจเวลากันผิดก็พอ ส่วนจะเรียกว่าอะไร มันไม่สำคัญเท่ากับการทำความเข้าใจของทั้งสองฝ่าย ก็เป็นใช้ได้ครับ