นอกจากนั้น วิหารของวัดหนองบัว ยังมีจิตรกรรมฝาผนังแบบโบราณที่สวยงามและแสดงถึงวิถีชีวิตของคนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแต่งกายด้วยผ้าซิ่นลายน้ำไหลหรือผ้าซิ่นตีนจกที่สวยงาม ภาพของเรือกลไฟและดาบปลายปืนซึ่งเริ่มเข้ามาในประเทศไทย ในรัชกาลที่ 4 – รัชกาลที่ 5 ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดหนองบัว เป็นการเล่าเรื่องหนึ่งในปัญญาชาดก ซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าเขียนโดย “ทิดบัวผัน” ช่างเขียนลาวพวนที่บิดาของครูบาหลวงสุ ชื่อนานเทพ ทหารของเจ้าอนันตยศ เจ้าเมืองน่าน ได้นำมาจากเมืองพวน แคว้นหลวงพระบาง และยังมีนายเทพ และพระแสนพิจิตรเป็นผู้ช่วยเขียนจนเสร็จ
ทางด้านหลังของวัดหนองบัว ยังเป็นที่ตั้งของชุมชนไทลื้อ ที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวไทลื้อได้ด้วยค่ะ มีบ้านที่จัดแสดงความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อ ด้านบนบ้านจะมีให้ชมทั้งห้องนอน เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากิน ส่วนด้านล่างใต้ถุนบ้านจะมีการสาธิตการทอผ้า โดยกลุ่มผู้หญิงในหมู่บ้านหนองบัวอีกด้วย
การได้มาแวะที่วัดหนองบัวแห่งนี้ ทำให้เราได้ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมในสมัยโบราณ และวิถีชีวิตของชาวไทลื้อเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยค่ะ ใครสนใจในวัฒนธรรมไทลื้อ ก็มาหาชมที่นี่ได้เลยนะคะ ^^