หลายครั้งที่กลุ่มคนที่พยายามจะหาทางทำอะไรที่แตกต่าง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น มักจะถูกมองว่าเป็นพวกที่ไม่มีความคิด แหกกฎเกณฑ์ รวมไปถึงคำก่นด่า ตำหนิติเตียนจากกลุ่มที่มองว่าตนเองเป็น ‘ผู้ใหญ่’ เราไม่เคยได้ยินคำชมเชยจากกลุ่มบุคคลที่พยายามจะสร้างสรรค์ หรือเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งใหม่ กลับกัน การถูกมองข้าม การถูกต่อต้าน กลับจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับกลุ่มบุคคลเหล่านี้เสียมากกว่า
‘โตโต้’ จิรวัฒน์ นาวาจักร์
คือชายหนุ่มผู้หลงใหลใน Skateboard
และหวังว่ากีฬาเหล่านี้จะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ การทำสิ่งที่ชอบบางครั้งจึงมีข้อจำกัด แต่ในข้อจำกัด ความสัตย์ซื่อที่จะทำในสิ่งที่รักก็ไม่เคยจะหมดสิ้นไป ‘Halfpipe Woodshop and Ramps’ จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อทำอุปกรณ์ สำหรับเหล่า Skater ทั้งหลาย
* หมายเหตุ Ramp คือชื่อเรียกอุปกรณ์การเล่นสเก็ตบอร์ด มีหลายรูปแบบและขนาดแล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ แต่โดยพื้นฐานส่วนมาก โครงสร้างจะ curve โค้งเว้าตามรูปทรงกลมของเลขาคณิต
ช่วงเย็นหลังเลิกงานเรานัดพบกับ โตโต้ เพื่อพูดคุยถึงโปรเจกต์ปัจจุบันที่เขารักและกำลังทำอยู่นั่นก็คือ ‘Halfpipe Woodshop and Ramps’ หรือ workshop ที่ทำอุปกรณ์หรือที่เล่นสำหรับนัก Skateboard ซึ่งโตโต้เองต้องการผลักดันสิ่งเหล่านี้เพื่อสนับสนุนให้เหล่า Skater ปัจจุบัน ที่นับวันจำนวนจะเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ได้มีพื้นที่มีโอกาสได้เล่น และเข้าถึงง่าย แต่การทำสิ่งที่รักบางครั้งไม่ได้ง่ายเสมอไป ทุกวันนี้เขาจึงต้องหางานประจำทำที่จะทำให้เขามีทั้งทุน และมีเวลาเหลือได้ทำสิ่งที่เขารักด้วย
เราเริ่มถามเขาเกี่ยวกับปัจจุบัน และสิ่งที่เขากำลังทำอยู่?
“ปัจจุบัน จันทร์ – ศุกร์ทำหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์อยู่ที่สถาบันวิทยาลัยพลศึกษาวิทยาเขตเชียงใหม่ ส่วนเสาร์-อาทิตย์ทำ ramp skate ที่ร้าน Halfpipe แล้วก็เริ่มถ่ายวิดิโอเล่น Skate ทุกวันอาทิตย์กับน้อง ๆ รุ่นใหม่ที่เล่นด้วยกัน เพราะน้อง ๆ เหล่านี้เก่งมาก ด้วยวัยขนาดนี้ครับ ส่วนก่อนหน้านี้ว่างมาหนึ่งปี ได้ทำอะไรหลายอย่าง ส่วนตอนนี้ก็ได้มาทำตรงนี้ เพราะพ่อทำงานที่นี่ แล้วเห็นว่าเราจบนิเทศศาสตร์มา แล้วเราก็ชอบถ่ายรูปด้วย ประจวบกับมีตำแหน่งว่างอยู่พอดีที่นึง เลยได้มาทำครับ เพิ่งมาทำได้เดือนเดียว”
หากใครที่รู้จักหรือคุ้นหน้าเขา จะทราบว่าเขาเป็นคนที่อารมณ์ดี เต็มไปด้วยพลัง หลังจบการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย เขาได้ทำงานมาหลากหลายชนิดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงาน Creative พิธีกร นักดนตรี และเขียนหนังสือ
“ก่อนหน้านี้ทำหลายอย่างที่ไม่ใช่งานประจำครับ ทั้งดนตรี หนังสือ แล้วก็ Skateboard จะมีอยู่ 3 part หลัก ๆ ของชีวิต หนังสือก็ทำเอง เขียนเอง ขายเอง ส่วนถ้าก่อนหน้านั้นอีกหน่อยก็ทำด้านสื่ออยู่ที่บริษัท House Of Idea Proud To Be Here ผลิตรายการทีวีช่วยผลักดันวงการดนตรีเชียงใหม่ ก็ควบตำแหน่งเลย เป็นทั้ง Creative และ พิธีกร”
เมื่อถามไถ่ถึงสาเหตุที่มาทำ ‘Halfpipe Woodshop and Ramps’
โตโต้ตอบอย่างอารมณ์ดีตามสไตล์ของเขา เป็นอีกครั้งที่เราได้เห็นว่า การเริ่มทำบางอย่าง มันมักจะเกิดจากแค่ความสนใจหรือสิ่งที่เราชอบ
“ช่วงก่อนที่จะมาเริ่มงานประชาสัมพันธ์อย่างที่บอก ยังว่าง อยากออกกำลังกาย ไปเตะบอลเพื่อนก็รวมทีมช้า กว่าจะได้เล่น เวลาก็ไม่ตรงกันอีก (หัวเราะ) เลยมาเล่นสิ่งที่ชอบคือ Skate (จริงๆเล่นประจำสม่ำเสมออยู่แล้ว) หลังจากนั้นมีความคิดอยากหางานอดิเรกทำ พอดีไม้ที่บ้านมีเยอะ เป็นไม้อัดเก่าๆ ลุงหน้าบ้านที่เป็นช่างไม้เขาก็เสียชีวิต เหลือโต๊ะทำงานไม้ไว้ อีก Part นึงของชีวิตก็เลยโผล่มา ก็คือทำ Ramp และ อุปกรณ์ Skate ”
“ตอนนี้เพิ่งเริ่มมาได้ประมาณ 5 เดือน ก่อนหน้าเคยมีไปทำปุ๋ยด้วย ไปช่วยญาติทำสื่อประมาณว่าคนใช้ปุ๋ยแล้วเป็นยังไง ตอนนั้นทำที่ขอนแก่น”
เมื่อเริ่มทำสิ่งใด จุดเริ่มต้น หรือจุดสนใจแรกเริ่มมักจะเป็นตัวกำหนดทิศทาง ถนนที่เราจะมุ่งไป และเป้าหมาย สำหรับโตโต้ก็มีเป้าหมายของการมาทำในส่วนของ Skate นี้ เช่นกัน
“ตอนแรกอยากทำมาไว้เพื่อมีให้ตัวเองเล่น พอมีให้ตัวเองเล่นเสร็จ มันก็กระจายความสนุกไปให้คนอื่นได้เล่นด้วย แต่ถ้าอยากจะขายเพื่อเอาเงิน ก็ทำได้ แต่มันจะต้องใช้ระยะเวลาในการทำ และราคาค่อนข้างแพง แล้วก็ที่ทำกล่องไม้สไลด์ ที่เราเห็นกัน กับราวเหล็ก ช่างเฉพาะทางก็ยังไม่มี แต่ช่างไม้หรือช่างเหล็กทั่วไป ถ้าเขาเห็นโครงสร้างในการทำ มันเป็นสี่เหลี่ยม เป็นราวเหล็ก เขาก็สามารถทำได้ แต่ถ้ามาขึ้นเป็นโมเดล อย่างพวกตัว U มันต้องศึกษานะ แล้วมันไม่มีใครทำไง ถ้ามีก็จะเป็นพวกเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ไปจ้างช่างดีๆ มาทำแพงๆ มาทีก็เป็นเหล็ก แล้วทีนี้อย่างเด็กที่ตำบลหนองหอย ก็ไม่มีเล่นดิ กว่าจะของบประมาณมาก็ยาก เราก็เลยเป็นมนุษย์ที่เรียกว่าอยากทำเอง เล่นเอง ให้คนอื่นได้เล่นด้วย”
“ปัจจุบัน ตัวที่ทำแล้วก็มีเอาไปวางตามที่ว่าง หรืองาน Event ให้สังคม Skate ได้เจอกัน ได้พบปะกัน”
จากหลายสิ่งหลายอย่างที่โตโต้ทำมา ล้วนเป็นสิ่งที่เขาสนใจและทำได้ดีทั้งสิ้น แต่ถ้าถามถึงสิ่งที่ชอบและรักที่สุดก็คงจะเป็นเรื่องของ Skate เพราะเรียกได้ว่ามันแทบจะซึมอยู่ในสายเลือดของเขา หล่อหลอมให้มาเป็นเขาในทุกวันนี้เลย
“ชอบที่สุดนะ เรื่อง Skate เนี่ย ก็เล่นมาตั้งแต่ ป.6 เลย จำได้ ตอนสัก ม.4 ม.5 เคยกรามหักเพราะไปเล่น Park Redbull (สนาม Skate) ข้าง เซ็นทรัลกาดสวนแก้ว ตอนนั้นไปลอยที่ Ramp อันนึง แล้วมีความรู้สึกอยากบิน ก็เลยลอยไปเลยความสูงประมาณตึกชั้นครึ่ง กะจะลอยแต่ดันยุบลงมาที่พื้น เรียบร้อยเลย (หัวเราะ) แม่ก็พาไปหาหมอ เสียค่ารักษาไปแพงเลย แต่สุดท้ายก็กลับมาเล่นอยู่ดี”
ด้วยความสงสัยเราจึงอยากทราบถึงความคิดของเขาว่า หากรัก Skate แล้วทำไมไม่ทำ Ramp Skate ให้เป็นอาชีพหลักไปเลย หรือว่ามีสิ่งใดที่กังวล คำตอบจากโตโต้ทำให้เราได้รู้ว่านอกจากเขารัก Skate แล้ว เขายังรักที่จะแบ่งปันผู้อื่นด้วย นอกจากนี้ปัจจัยเรื่องเงินก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง
“ไม่มีเงินดิ ใช้เงินไปเยอะแล้วหลังจากได้มาตอนช่วยญาติขายปุ๋ย ก็เอามาลงทุนทำ Ramp พอจะขายก็ดันใจดี ขายในราคาต้นทุน ไม่ได้กำไรเลย เพราะถ้าเอากำไรแล้วน้อง ๆ ที่ไหนจะมาซื้อ น้อง ๆ ที่ไหนจะมาเอา อันตั้งเกือบหมื่น จริง ๆ ก็มีคนซื้อนะ แต่นาน ๆ ที แล้วเราก็ไม่ได้อยากขายเอากำไรจ๋าขนาดนั้น เราอยากให้คนได้เล่นมากกว่า”
ใจที่มีให้กับ Skate และคนที่เล่น Skate แต่ด้วยปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินนัก เรื่องนัก Skate ที่มีจำนวนยังไม่ได้มากมายเท่าต่างประเทศ การทำอุปกรณ์ Skate เหล่านี้ขาย จึงเป็นสิ่งที่ต้องชั่งใจเช่นกัน
“อุปกรณ์พวกนี้ไม่ได้ซื้อกันเป็นเดือนต่อเดือน ไม่ได้ซื้อกันเหมือนรองเท้าฟุตบอล ปีนึงอย่างน้อยขายยังไม่รู้จะได้สักกี่ตัว ถึงขายได้ก็ไม่พอ นั่นก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มาคิดว่า แล้วเวลาว่างที่เหลือจะเอาไปทำอะไร นอกจากจะไปเปิดร้านขายแผ่น Skatebord ขายเสื้อผ้า แต่เราไม่อยากทำแบบนั้น พี่น้องเขาทำกันเยอะแล้ว เราอยากทำแค่อุปกรณ์และที่เล่น”
“ที่มาทำ Ramp Skate นี่ อีกอย่างก็เพื่อเก็บไว้เป็น Portfolio นะ เผื่อในอนาคตผู้ใหญ่เขาจะเห็นสิ่งที่ดีในการออกกำลังกายจากกีฬาชนิดนี้มั่ง เพราะทุกวันนี้เขายังมองว่าเป็นกีฬากุ๊ยอยู่เลยมั้ง ”
เมื่อถามถึงเป้าหมายในการมาทำ Ramp Skate และการยอมลงทุนเพื่อกีฬาชนิดนี้จริงๆ นอกจากใจรักแล้ว โตโต้ ยังอยากให้คนที่เรียกตัวเองว่าผู้หลักผู้ใหญ่ได้เห็น และเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับนัก Skate หรือกระทั่งกีฬาชนิดนี้บ้าง เพราะค่อนข้างจะโดนดูถูกพอสมควร
“หวังไว้นะ สักวันหนึ่งจะเขียนโครงการจาก Portfolio นี่แหละ เอาไปยื่นให้พวกผู้ใหญ่ในเชียงใหม่ที่ชอบไปดูงานต่างประเทศบ่อยๆได้รู้ว่า ตอนนี้นัก Skate มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก เป็น 100 คนแล้ว แต่ไม่มีที่เล่น เวลาไปเล่นข้างนอกของหาย ก็มาโทษเด็ก Skate พอไปเล่นที่อื่นเกิดอาชญากรรมขึ้น ก็มองเราเป็นตัวปัญหา แต่ถ้าที่นี่มีสนามเล่น พ่อแม่อยากให้ลูกเล่น ก็มาเล่นได้ จะได้เป็นระบบ แต่ก็ไม่ได้เคร่งเครียด ยังสนุกสนานเหมือนเดิม และถ้าถามว่า จะเด็กหรือคนแก่เล่นไปเพื่ออะไร เอ้า !! ก็ฟุตซอล เขายังมีหญ้าเทียมกันโคตรเยอะให้เตะเลย แม้จะไม่ได้เป็นทีมชาติด้วย แหม ขอพื้นคอนกรีตสักสองสนามบาส คงไม่หนักหนาอะไรม้าง(ลากเสียงยาว) เอาแบบที่อยู่กันได้นานๆยั่งยืน เลยนะ ไม่ใช่เดี๋ยวก็โดนไล่ที่อีก”
ดูเหมือนว่าสิ่งที่เขาต้องการ ไม่ได้เป็นเรื่องที่มากมายเลย แต่ด้วยปัจจัยบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ หรือทัศนคติบางอย่างของเหล่าผู้หลักผู้ใหญ่ ส่งผลให้ปัจจุบัน แม้พื้นที่ว่างในเชียงใหม่จะมีอยู่มาก แต่การที่จะแบ่งมาให้กับสังคมของเหล่า Skater นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้และอาจจะไม่เคยเกิดขึ้นเลย
“เคยถามพ่อเรื่องสถานที่ เพราะเคยเห็นสวนสาธารณะเล็ก ๆ แถวคูเมือง แต่คงยาก เพราะไหนจะเรื่องการเมือง ไหนจะคำบอกของพวกผู้ใหญ่ว่าเป็นพื้นที่เอาไว้ใช้สอย เอาไว้ให้เงินมาหมุน ไม่เอาละ พูดไปเดี๋ยวก็โดนยิง (หัวเราะ)”
“อยากแค่มีพื้นที่เอาไว้เล่น Skate ออกกำลัง กันอย่างยั่งยืน แบบว่า 10-30 ปีกูก็อยู่ตรงนี้ เล่นตรงนี้ เติบโตตรงนี้ในเชียงใหม่ แต่ผมไม่ใช่คนรวย เจ้าของที่ดินสาธารณะอันยั่งยืนนั้นเป็นของประชาชน และผมก็ไม่อยากโดนไล่ให้ไปเล่นที่ประเทศอื่น ผมจะเล่นที่นี่ตรงนี้เชียงใหม่ สิ่งที่ผมพอจะทำได้คือเริ่มลงมือลองสร้าง Ramp กันเองกับพี่น้อง Skater และ BMX”
อาจจะเรียกได้ว่าแม้อาจจะเป็นสังคมเล็กๆ แต่กลับมีพลังที่ยิ่งใหญ่ พลังจากความรัก พลังจากเพื่อนฝูง ถึงจะมีปัจจัยที่อาจจะทำให้น่าท้อใจบ้าง แต่ความปรารถนาที่อยากจะเล่นก็ไม่เคยที่จะหมดไป ทำให้แม้เหนื่อย ก็ต้องออกแรงผลักดันร่วมกันไป
“วงการ Skate นี่ก็ค่อนข้างทำอะไรเองมาเยอะแล้วนะ ตั้งแต่รุ่นพี่ เขาก็ทำอะไรด้วยตัวเองหมด อยากมีสนาม อยากมีอุปกรณ์ ก็ซื้อเอง เล่น Skate อาจจะมีทีมนะ แต่ตอนเล่น เราต้องเล่นเอง มีสมาธิ มีโฟกัสกับมัน จะบอกว่าขอนั่งพัก ให้คนอื่นไปเล่นแทนก็ไม่ได้ เพราะแผ่น Skate อยู่ที่มือเรา เราถือ เราต้องเล่นเอง แข่งกับตัวเอง”
เมื่อเราถามว่า Skate ให้อะไรกับตัวตนของเราบ้าง โตโต้ ยังคงตอบคำถามเราตามสไตล์ของเขา คือกวนนิดๆ แต่หากเราวิเคราะห์ดีๆ มันกลับแอบแฝงด้วยความรู้สึกที่เขามีต่อสิ่งนี้จริง ๆ
“ให้กรามหัก ข้อเท้าพลิก แต่ก็ยังฝืนเล่น และที่สำคัญคือพี่น้องผองเพื่อน แล้วก็ความเฟี้ยว”
ปรัชญาหรือคำคมในชีวิต อาจเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับบางคน แต่กับอีกคน ของพวกนี้อาจจะไม่จำเป็นก็ได้ เมื่อเราถามถึงสิ่งเหล่านี้ในความคิดของโตโต้ เขาทิ้งท้ายกับเราว่า สติ สำคัญที่สุด
“ผู้ใดควบคุมอดีต ผู้นั้นควบคุมอนาคต ผู้ใดควบคุมปัจจุบัน ผู้นั้นคือผู้ควบคุมอดีต”
“ก็คือมีสติกับปัจจุบันนั่นแหละ”
“แถมให้อีกอย่าง D.I.Y หรือ Do it yourself ทำทุกอย่างด้วยตนเอง”
โตโต้ทิ้งท้ายกับเราไว้อย่างน่าฉงน หรืออาจบอกเป็นนัย ๆ กับเราว่า บางครั้งสิ่งที่เราชอบทำ มันไม่ได้หมายความว่าจะเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่อาจจะไม่เข้าใจในวิถีทาง ดังนั้นสิ่งที่เราสามารถทำเองได้ แม้จะเล็กน้อยแค่ไหน เราก็ควรซื่อสัตย์กับมัน แรงปรารถนา ความรัก และการคิดถึงผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นแรงผลักดันให้เรายังคงมุ่งทำในสิ่งที่เราเชื่ออยู่
แม้ในตอนนี้สังคมของเหล่า Skater อาจจะเป็นสังคมที่ไม่ได้ใหญ่โต หรือได้รับการยอมรับจากเหล่าบรรดา “ผู้ใหญ่” มากนัก แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากพวกเขาคือ เขาไม่เคยท้อ พวกเขายังคงทำในสิ่งที่รักอยู่ เหมือนมดตัวเล็กตัวน้อย ที่ค่อย ๆ ขนเศษอาหารเข้ารัง ด้วยหวังว่าสักวันหนึ่ง สิ่งเล็กๆที่พวกเขาได้ทำ จะเติบโตแตกรากออกผลเป็นพื้นคอนกรีตลื่น ๆ หรือไม้อัดอันทรงพลังอย่างยั่งยืน
- ร้าน Halfpipe Woodshop and Ramps
- ที่อยู่ : หน้าบ้านหรือในตึกร้างร้านวิชั่น all for you
- เปิด : เสาร์-อาทิตย์
- โทร. : 0832027341
เรื่องราวชีวิตของ Humans of Chiang Mai คนต่อไปจะเป็นใคร ติดตามกันได้ที่นี่
• แคปชั่นสเก็ตบอร์ด เอาใจ “เด็กสเก็ต เซิร์ฟสเก็ต”
• อยากรู้เรื่องสเก็ตบอร์ด! สเก็ตบอร์ดมีกี่แบบ อยากเริ่มเล่นสเก็ตบอร์ดต้องทำอย่างไร?
• เซิร์ฟสเก็ต “Surf Skate” เทรนด์ฮอทสุดฮิต มาแรงแซงทุกกีฬา
• ส่องเทรนด์ “เซิร์ฟสเก็ต” เมื่อดารา คนดัง รวมทั้งญาญ่า ก็เข้าวงการ