แอ่วกาด เล่าขานความเป็นมาของ กาดหลวง กาดเมืองใหม่ 2 สหาย เพื่อนซี้ คู่เคียงชาวเชียงใหม่ หากยืนอยู่บนสะพานนครพิงค์ที่พาดข้ามแม่น้ำปิง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก (ดอยสุเทพ) ฝั่งซ้ายคือกาดหลวงส่วนฝั่งขวาคือกาดเมืองใหม่ ทั้งสองกาดนี้ตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำปิง แม่น้ำสายหลักในการค้าการขายการคมนาคมทางเรือแห่งนพบุรีนครพิงค์เชียงใหม่ในอดีต
ด้านข้างของสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ตรงวงเวียนมีเจดีย์ขาวเป็นอนุสรณ์ “ปู่เปียง” ผู้ที่เดิมพันแลกด้วยชีวิตโดยใช้กุศโลบายหลอกล่อแข่งดำน้ำกับพม่าที่จะมาตีเมืองเชียงใหม่ให้ถอยร่นกลับ (เราเองก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งขึ้นมา) แต่บริเวณนี้ระหว่างที่เราเดินก็เห็นมีคนมานั่งตกปลาทั้งสองฟากฝั่ง บางคนก็ดำผุดดำว่ายลอยคออยู่ในน้ำคล้ายแข่งขันกลั้นหายใจ
แม่น้ำปิง วันนี้เป็นสีกาแฟใส่นมขุ่นเข้ม เป็นเพราะพายุไซโคลนโมคาที่พาดผ่านมาเมื่อสองวันก่อนทำให้มีฝนตกฟ้าร้องลมกรรโชกในหลายจังหวัดของประเทศไทย
กาดเมืองใหม่ ดูคล้ายไม่หลับไหล เพราะเป็นแหล่งค้าส่งผลไม้ตามฤดูกาล อาหารแห้ง ผักสด อาหารทะเล หมู เห็ด เป็ด ไก่ ตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ลับฟ้า
กาดหลวง ก็เป็นกาดที่ทุกช่วงเทศกาลหรือนอกเทศกาล จะมีผู้คนมาเลือกซื้อจับจ่ายใช้สอยทั้งของฝากของใช้ในชีวิตประจำวัน มีทั้งไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม แคปหมู ผ้านุ่งผ้าซิ่น ชุดนักเรียน เครื่องสังฆภัณฑ์ สักการะบูชา และร้านขายผ้ามากมาย กาดหลวงเป็นจุดเชื่อมการคมนาคมและการท่องเที่ยวระหว่างอำเภอของเชียงใหม่ เพราะมีท่าเทียบรถตู้ รถโดยสารสองแถว ใครจะไปเที่ยวแม่กำปอง ดอยสะเก็ด ลำพูน ก็มาขึ้นรถที่นี่
กาดหลวงในบางมุมก็ดูคล้ายตลาดพาหุรัดเพราะมีแขกขายผ้า เหมือนตลาดเยาวราชเพราะมีร้านขายทอง การสัญจรขวักไขว่ไม่ต่างจากปากคลองตลาดที่มีร้านขายดอกไม้มากมาย (อยู่ฝั่งกาดต้นลำไย)
” ปีนี้เรากินทุเรียนแล้วหรือยัง? ”
ระหว่างเดินผ่านกาดเมืองใหม่ ก็เห็นกลุ่มจีนมุงสูงวัยหน้าแผงทุเรียนพร้อมกลิ่นยั่วยวลลอยมาเตะจมูกให้เราต้องไปชะโงกมองร่วมมุงไปกับเขา ช่วงนี้ไปไหนมาไหนก็จะเจอทุเรียน ผลไม้ที่คนยกให้เป็นราชา คนจีนนิยมรับประทานทุเรียนเช่นเดียวกับคนไทยบางส่วน เพราะบางคนก็ไม่ชอบกลิ่นของทุเรียน เราเห็นนักท่องเที่ยวพูดคุยกันโฉงเฉงในภาษาที่เราไม่เข้าใจ ละเลียดกินทุเรียนพูใหญ่อย่างเอร็ดอร่อย ปลอกแล้วกินเลย คล้ายกับอยู่หน้าบาร์ซาซิมิที่สดใหม่ ทุเรียนมีหลายเกรด หลายราคา ราคาลูกหนึ่งก็เฉียดพัน ที่เราเห็นก็กิโลละ 250 บาท แต่คนก็ยังถวิลหาเพื่อได้กิน เราเองก็ชอบกิน กินทีไรหน้าก็ฟินทุกทีเหมือนลุงชาวจีนคนนั้น ปีนี้เลยตั้งใจจะกินสักสามสี่โล
วันนี้อากาศดีมีเมฆฝนสลับแดดออกจ้า เหมือนกำลังเดินเล่นกับเด็กขี้งอแงเอาแต่ใจ เดี๋ยวยิ้มร่าประเดี๋ยวเดียวก็ร้องไห้ เราเลยต้องมีหมวกกันแดดและพกร่มกันฝนเดินลัดเลาะซอยและตลาดสดที่มีรถเข็น รถพ่วง วิ่งสวนไปมาอุตลุต มาโผล่ยังบริเวณถนนเมืองสมุทธ มองเห็นอาคารสีเหลืองมัสตาร์ดฝั่งตรงข้าม คือที่ตั้งของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ( TCDC ) เดินข้ามแยกกาดเมืองใหม่ไปก็เป็นถนนราชวงศ์ อีกย่านที่น่าสนใจ มีร้านกาแฟเท่ๆ มีโกดังข้าวของแนวคลาสสิค วินเทจและเป็นคอมมูนิตี้ของกลุ่มคนที่ชื่นชอบของแนวๆ เดินเลยไปหน่อยก็เป็นแยกทีมีอาคารธานินทร์วิทยุ ทำให้นึกถึงวิทยุทรานซิสเตอร์ใส่ถ่านไฟฉายก้อนโต สมัยที่เรายังเด็ก ย่านนี้จึงน่าจะเป็นย่านที่ทำให้เรานึกถึงวัยเด็กที่บ้านนอก
ผ่านแยกมานิดเดียวก็ถึงกาดหลวง ประตูจีนสีแดงตั้งตะหง่าน มองตรงไปก็เห็นวัดนามธารี เป็นวัดแขกของชาวเชียงใหม่ และในซอยข้างวัดนี้ก็มีร้านก๊วยเตี๋ยวปลาเฮียซ้ง เราเองก็แวะกินบ่อย แต่บางจังหวะก็เจอคิวยาว นอกจากก๊วยเตี๋ยวปลาแล้วก็ยังมีหลากหลายร้านในย่านนี้ที่เราเองก็ไม่ได้ไปลองกิน อีกอย่างเราเองก็ไม่ชำนาญเรื่องอาหารการกิน ระหว่างเดินเล่นถ่ายรูปเห็นอะไรน่ากินก็กิน หิวตรงไหนก็หยุดกินตรงนั้น มื้อเที่ยงนี้นึกถึงขนมเส้น(ขนมจีน)น้ำยากะทิ ไข่ต้มยางมะตูม ร้านอยู่ด้านล่างของกาดหลวง ตรงทางเข้าบริเวณด้านหน้าศาลเจ้ากวนอู (บู้เบี้ย) ที่มีร้านสมนึกโกปี๊ กาแฟจักรยานสองล้อเจ้าประจำจอดขายและเสียงเพลงแว่วก้องบทเพลงขับขานทรงพลังของคุณตาวนิพก
ระหว่างกินขนมจีนเราถามป้าเจ้าของร้านว่าที่นี่กาดหลวงหรือกาดต้นลำไย เราถามย้ำให้แน่ใจ เราเคยสับสนจนเข้าใจผิด เพราะที่นี่มี “สามมหากาด” อยู่ในละแวกเดียวกัน คือ วโรรส(กาดหลวง) กาดต้นลำไย กาดนวรัฐ(กาดเจ๊กโอ้ว)
ออกจากกาดหลวงเราเดินเลียบฝั่งถนนข้ามไปสุดที่กาดเมืองใหม่เป็นเส้นวงกลม ระยะทางเดินชมนั่นชมนี่ราว 4 กิโลเมตร ได้เจอหลายสิ่งตามหลืบซอกซอยให้เราหยุดและถ่ายภาพมาให้ชมกัน.
Naffy
15 พฤษภาคม 2566
- พิกัด : ตลาดเมืองใหม่ , ตลาดวโรรส(กาดหลวง)
- เวลาเปิดปิด : ขาย 24 ชั่วโมง
- เวลาผักลง : 4 ทุ่ม และ ตี 2
- ที่จอดรถ : มอเตอร์ไซค์ จอดตรงข้างซ้ายก่อนถึงเจดีย์ หรือเข้าซอยซ้ายมือก่อนถึงเจดีย์แล้วมองซ้าย
- ซอยเล็กๆไว้ รถยนต์จอดหน้าร้านผักได้เลย
- บริการรถเข็น : อ่านในนี้ https://reviewchiangmai.com/3130-p/