Humans Of Chiang Mai สุเมธ ยอดแก้ว : Minimal Records “เราจะทำเพลงที่เชียงใหม่ และไม่ย้ายไปที่ไหน”

ดนตรีไม่มีขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน สูงต่ำดำขาว รวยดีมีจน ทุกคนย่อมเคยฟังเพลง และมีบทเพลงที่ตนเองชื่นชอบไม่มากก็น้อย ดนตรีไม่มีแบ่งแยก ดนตรีไม่เลือกคนฟัง ไม่เลือกแหล่ง ไม่เลือกสภาพพื้นที่ไม่ว่าจะขนาดใหญ่อย่างระดับทวีป หรือกระทั่งระดับภูมิภาค แม้เล็กๆอย่างระดับประเทศ ตามตรอกซอกมุมทุกหนแห่ง อาจกล่าวได้ว่าดนตรีคือสิ่งที่ทุกคนพึงมี และสามารถเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งยังมีหลากหลายให้เลือกเสพ ดนตรีเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของมวลมนุษย์ชาติมาอย่างยาวนานแท้จริง ดังพระราชนิพนธ์แปล ในรัชกาลที่ 6 กล่าวว่า ‘ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก’

Humans Of Chiang Mai : สุเมธ ยอดแก้ว (เมธ) อายุ 33 ปี

ในประเทศไทย เราอาจทราบกันดีว่าแหล่งรวมวงดนตรี และค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ รวมถึงค่ายเล็ก ๆ แต่มีชื่อเสียงคือเมืองหลวงอย่าง กรุงเทพมหานคร แต่เราเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่าจำเป็นหรือเปล่าที่ของดี จำเป็นต้องมีอยู่ในที่จำกัดแค่เมืองหลวง ในประเด็นนี้ “เมธ”สุเมธ ยอดแก้ว หัวหอกหลักของค่ายเพลงอินดี้ที่มีชื่อเสียงในเชียงใหม่อย่าง Mininal Records  คือ ผู้หนึ่งที่เห็นด้วยที่ว่า ของดีไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เมืองหลวง เพียงแต่จะมีใครที่จะสามารถมองเห็นเท่านั้นเอง

ปัจจุบัน เมธ ทำงานประจำหลักคือการเป็นอาจารย์ที่ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรานัดพบเขาในบ่ายแก่ ๆ วันหนึ่งหลังเขาเพิ่งเลิกสอนมา

เราได้พบชายหนุ่มรูปร่างสันทัดตามแบบฉบับชายไทย แต่งตัวดูมีภูมิฐาน ท่าทางสบาย ๆ แต่ไว้หนวดเครา เราได้พูดคุยทักทายเล็กน้อยก่อนเริ่มบทสนทนาถึงสิ่งที่เขาทำอยู่ในปัจจุบัน

อาชีพหลักคืออาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย

“อาชีพหลักคือเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยสื่อ มช. สอน Animation ด้าน Visual ด้าน Motion Graphic กับ Animation 2 มิติ ก็ทำมาได้ 7 – 8 ปี แล้วครับ แล้วก็เป็นเจ้าของร่วมกับเพื่อนที่ Minimal Gallery นอกจากนี้ก็ยังเป็น Freelance ทำ Graphic Designer รับงานเดือนละชิ้น สองชิ้น พอให้มีกับซื้อข้าวกิน (หัวเราะ)”

ปัจจุบันเมธคลุกคลีกับวงการสื่อ และดนตรี แต่ในอดีตเราได้ทราบว่าเขาคืออีกคนหนึ่งที่เคยดิ้นรนทำอะไรมาหลายสิ่งหลายอย่าง เนื่องด้วยฐานะทางครอบครัวที่อาจจะไม่ได้สู้ดีมากนัก เขาเล่าให้เราฟังถึงอดีตที่เคยผ่านมา

“เมื่อก่อนครอบครัวไม่ค่อยมีฐานะ จะเรียนก็ต้องอาศัยเงินกู้ กยศ. ทุกวันนี้ก็ค่อยๆจ่าย แต่ยังไม่หมดเลย (หัวเราะ) ก็เราไม่ได้เป็นเศรษฐี ไม่ได้ระดับกลาง แต่ค่อนไประดับข้างล่างเลย เราก็เลยต้องหาเงินเองด้วยในระหว่างเรียน ตอนนั้นเรียน สถาปัตย์ มช. ก็ช่วยเขียนแบบให้เพื่อน เป็น Freelance รับออกแบบเขียนบ้าน ระหว่างนั้นก็ซื้อของมาขายหลัง มช.บ้าง แต่ก็เจ๊ง เพราะไม่มีเงินทุน แล้วหลังเรียนจบก็ยังเคยรับยาเขามาส่งด้วยตามโรงพยาบาล”

เนื่องด้วยฐานะทางบ้านที่ไม่ค่อยดี เมธ ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อหาเงินมาสมทบในการใช้ชีวิตแต่ละวัน หลังเรียนจบ ด้วยวิชาความรู้ทางด้านที่เรียนมา จึงถึงเวลาที่เขาจะออกจากห้องเรียนไปสู่โลกแห่งการทำงานอย่างแท้จริง

“หลังจบมา เราชอบสายกราฟฟิค ก็เลยเลือกทำงานด้านกราฟฟิค ก็ไปเปิดออฟฟิศกับพี่อีก 2-3 คน เปิดทำเป็น Freelance เดือนแรกนี่ซื้อมาม่ามาตุนไว้เลยนะ ทำไปได้สักพัก ระหว่างนั้นก็เริ่มมาคิด เอ๊ะ มันชักจะไปไม่รอดละ สายกราฟฟิคงานไม่ค่อยมี ก็เลยได้ไปรับส่งยาอย่างที่บอก ตื่นแต่เช้าไปรับยาจากเพื่อนที่เป็น Dealer แล้วก็ไปส่งรพ.สวนดอก ได้วันละ 300 บาท ตอนนั้นก็โอเค ก็ทำได้หลายเดือนอยู่ แต่หลังจากนั้นก็ยังได้กลับไปขายของที่หลัง มช.อีกรอบหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้อีก ก็เลยไม่ทำละ”

เราก็เลยมาคิด อะไรที่มันลงทุนกับเงินน่าจะไม่รอด เพราะเราก็ไม่มีเงินทุน ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือต้องลงที่สมองกับแรงลูกเดียว เลยตัดปัญหาที่เกี่ยวกับธุรกิจและเงินทุนไป

เมื่อสิ่งที่เมธได้ลองหยิบจับและทำดูหลังเรียนจบ มันไม่ได้ผลิดอกออกผลจากเงินที่ลงทุนไป ความคิดเขาจึงเปลี่ยน และนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาเลือกที่จะลงแรงให้กับสมองและการกระทำ มากกว่าลงทุนกับเงิน ซึ่งมันก็กลายเป็นบทแรกของการเริ่มต้นกับร้าน Minimal Gallery (ช่วงนั้นเริ่มทำงานเป็นอาจารย์แล้ว)

“หลังจากนั้นได้คุยกับพี่ๆว่าจะเปิดร้าน Minimal กัน เพราะลงทุนไม่เยอะ เราก็ลงแรงไปเยอะ ลงเงินนิดเดียว แล้วเปิดร้านเพื่อสร้างงานศิลปะ”

หลายคนอาจจะทราบดีว่า Minimal Gallery ก็คือสถานที่เดียวกันกับ Mininal Records จุดรวมระดมสมองของศิลปินอินดี้ในเชียงใหม่ ซึ่งก่อนจะมาเริ่มเปิดเป็น Minimal records อย่างจริงจัง เมธ เล่าย้อนกลับไปในวัยเด็กให้เราฟังถึงชีวิตอีกด้าน นอกจากความชอบด้านงานกราฟฟิคแล้ว ก็คือดนตรี ที่เรียกได้ว่าฝังมาต้องแต่สมัยคอซองเลย

“เรื่องดนตรีนี่มันแทรกมาตั้งแต่เด็กแล้ว ตั้งแต่ประถม ม.ต้น เชื่อว่าทุกคนก็คงเป็นแบบนั้นคือชอบฟังเพลง ตื่นเช้ามาก็เปิดวิทยุฟัง เก็บเงินซื้อเทป พอเข้ามาในมหาลัยก็อยากได้คอม แต่ไม่มีเงินซื้อ แต่มีใจอยากเล่นดนตรี ตอนนั้นมันมีละครถาปัตย์ เลยไปขอนายกสโมสรนักศึกษา ทำเพลงประกอบละครเวที ก็ตื่นเต้นมากตอนนั้น ปี 1 ปี 2 ไฟแรง”

“แต่ตอนนั้นเงินทำเพลงต้องใช้เป็นหมื่น ซึ่งมันก็เยอะแล้วเราก็ไม่มีมากมายขนาดนั้น นายกสโมสรนักศึกษา ก็ใจดี แกก็เลยให้เงินเรามาใช้ แล้วตอนนั้นเผอิญพี่สาวแต่งงาน เราก็เลยเอาเงินพี่สาวจากงานแต่งมาซื้อคอมด้วย (หัวเราะ) สรุปตอนนั้นก็เอาคอมอัดเพลงกันแบบโง่ๆ ชวนเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ มาช่วยกันทำเพลง ก็ทำเสร็จเป็นอัลบั้มประกอบละครเวทีเลย เรียกได้ว่าตอนนั้นเป็นครั้งแรกเลยที่มีอัลบั้มเพลงประกอบละครเวที รู้สึกจะชื่อเรื่อง โรมิโอ แอนด์ จูเลียต ชื่อไทยคือ เรื่องของกู นี่เรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครรู้เลยนะ เพราะไม่ค่อยบอกให้ใคร (ยิ้ม)”

ใบปิดงาน No Signal Input

เรียกได้ว่าเป็นผลงานทางดนตรีชิ้นแรก ๆ ในชีวิตเลยสำหรับเมธ จุดเริ่มต้นที่มาจากใจที่รักอยากจะทำเพลง ประกอบกับการขวนขวาย อัลบั้มจึงเสร็จมา หลังจากนั้นเขาก็ได้ยกระดับจากการทำเทปไปสู่การทำซีดี ในช่วงปี 4 ที่เขาต้องเป็นคนจัดงานให้คณะเองบ้าง หารู้ไม่ว่านี่คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตดนตรีของเมธ เมื่อเขาพบกับ เด๋อด๋า ศิลปินและนักทำเพลงอินดี้ในช่วงนั้น


“ตอนนั้นหลังจากทำอัลบั้มเทปเสร็จ เราก็เริ่มทำเป็นซีดี เพราะเราเริ่มรู้ต้นทุน การทำงาน ตอนปี 3 ก็ได้ทำเพลงให้รุ่นพี่ปี 4 พอเราปี 4 คราวนี้เราได้ทำเองเลย ซึ่งธีมงานตอนนั้นจะเป็นแบบ อวกาศ เราก็มาคิดว่าจะใช้ Sound แบบไหนดี พอดีตอนนั้นมีคนแนะนำให้รู้จักกับ เด๋อด๋า ซึ่งตอนนั้นเขาเพิ่งทำ No Signal Input 1 เพื่อนก็แนะนำว่า เด๋อน่าจะรู้จัก Sound ดีๆ เราก็ได้ไปคุยกัน แล้วคุยถูกคอ ก็ได้เสียกัน (หัวเราะ) ล้อเล่น ก็แลกเปลี่ยนความรู้กัน ก็เลยสนิทกับเด๋อ ได้ความรู้จากเด๋อมาทำเพลง นั่นก็ทำให้ได้เริ่มเชื่อมต่อกับ No Signal Input

ความชอบที่มีต่อดนตรี และมุ่งมั่นอยากทำเพลงในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยได้นำพาเมธมารู้จักคนในวงการดนตรี และทำให้เกิดคอนเนคชั่น ก่อนที่หลายสิ่งหลายอย่างจะเริ่มตามมา

“พอตอนนั้นทำเพลงประกอบเสร็จ ก็สนุกเลย ชวนเพื่อนทำเพลงไปเล่นงาน Fat ที่กรุงเทพ ทำมา 10 เพลง แต่เพื่อนไม่ยอมไป เลยก็เลย Backpack ไปเองเลย เอาแผ่นไปขาย ตอนนั้นจำได้ชื่อวง FHM ย่อมาจาก Fool Human Machine ก็เอาไปขายแต่ก็ขายได้แค่ 2-3 แผ่น เลยกลับมา”

บรรยากาศที่ minimal

หลังจากจบจากรั้วมหาวิทยาลัย เมธ ก็เริ่มห่างหายจากวงการดนตรีมาสักพัก เพื่อมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือ อย่างที่เราทราบ แต่หลังจากเริ่มเปิดร้าน Minimal แล้ว เขาก็เริ่มมีใจอยากจะกลับมาทำเพลงอีกครั้ง

“ตอนนั้นหลังเรียนจบ มาเป็นอาจารย์ มาเปิดร้าน ก็คิดว่าอยากทำเพลง เพราะไม่ได้ทำนานแล้วมัวแต่สอนหนังสือ เลยมาคิด เรามีศูนย์กลางคือร้านละ แล้วเพื่อนๆที่มาเที่ยวร้านก็มีนักดนตรีเยอะแยะ ก็เลยชวนเพื่อนๆว่าเรามาทำเพลงกันดีกว่า ประจวบกับว่าตอนนั้นจะมีงาน Fat ที่เชียงใหม่ เราก็เลย อ่ะ ! มาทำเพลง เลยตั้งชื่อตอนนั้นว่า Minisound Project ก็คือจะใช้ชื่อร้าน แต่ไปคุยกับเด๋อ คุยไปคุยมาเด๋อก็ถามทำไมไม่ใช้ No signal input ไปเลย เพราะมันก็ไม่ใช้มานานละ (NSI 1 คือตอนปี 46 เมธได้รู้จักกับเด๋อตอนปี 47 ตอนทำเพลงละครถาปัต) เราก็ถามว่าใช้ได้เหรอ เด๋อก็บอกเราว่า NSI มันก็ไม่ใช่ของใคร มันก็ใช้ชื่อกลางๆรวมๆไปนี่แหละ เราก็เลยตัดสินใจใช้ชื่อนี้ ก็เลยมาเป็น No signal input 2 ที่มีฐานทัพอยู่ที่ Minimal“

“ตอนนั้นก็รวบรวมพี่ๆน้องๆมาทำเพลงในอัลบั้มนี้ ไปขายในงาน Fat ซึ่งก็ขายดีมาก เพราะว่าขายถูก ขายได้ 200 กว่าแผ่น”

หลังจากจบงาน Fat ซึ่งพวกเขาในนาม No signal input 2 สามารถทำตามเป้าหมายคือการขายแผ่นได้สำเร็จ หลังจากนั้นจึงเกิดช่วงหนึ่งที่ทำให้หยุดพักกันไปลังจากเหน็ดเหนื่อยกันมา

“พอจบงาน ก็หายกันไปจน พี่โหน่ง – ขันอาสา มาชวนไปเล่น Live ที่ร้าน เพราะตอนนั้นแกเริ่มเปิดร้าน ก็ตื่นเต้นมากที่จะได้เล่นดนตรีสด เพราะปกติทำเพลงขายอย่างเดียว ไม่เคยคิดว่าจะได้เล่นสด พอไปเล่นก็สนุกมาก ติดใจเลย ได้เจอเพื่อนๆเยอะแยะ ก็เลย เอ้า ! ไปหาที่เล่นต่อไป หลังจากนั้นก็เล่นยาวมาจนถึงปัจจุบัน”

“หลังจากนั้นก็กลับมาทำเพลงขายอีกในชื่อ NSI 2.2 เพราะตั้งใจไว้ว่ารุ่น 3 คงเป็นเด็กรุ่นใหม่ ๆ แล้ว”

อาจเรียกได้ว่าจุดกำเนิดแท้จริงของ Minimal Records อาจจะไม่ได้เริ่มตั้งแต่ เมธ เริ่มทำเพลง แต่สิ่งที่เขาเคยบ่มและปลูกไว้กับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในยุคแรก มันเริ่มมาผลิดอกออกผลมากมายในช่วงยุคหลัง

“คือ ช่วง NSI 2.2 คนก็เริ่มหันมาสนใจเราแล้วนะ แต่มันจะมาพีคจริงๆในช่วง NSI 3 ซึ่งก็มีวงเด็กใหม่ๆ เป็นที่จับตามองมาก มีพวกหนังสือ นิตยสารมาสัมภาษณ์ แล้ววงอย่าง Polycat ก็ได้ย้ายไปอยู่ค่ายใหญ่ คนก็เลยมองว่า NSI มันมาแรงมาก ตอนนั้นก็เลยมีคนมายัดเยียดว่าทำไมไม่ทำเป็นค่ายเลย แต่เราก็บอกว่า NSI ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของทุกคนที่มาช่วยกันคิด เราแค่เป็นตัวดำเนินเรื่องให้มันเดินไปได้ ถ้าเราทำเป็นค่าย ความเป็นเพื่อนมันจะหายไป เพราะจะมีเรื่องธุรกิจมาเกี่ยวข้อง เราไม่อยากเป็นอย่างนั้น แล้วก็ไม่อยากให้เสียคอนเซปต์จากที่เพื่อนๆทำไว้แต่แรก ก็เลยไม่ทำ”

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเมื่อไม่ได้ทำเป็นแบบธุรกิจ การทำอัลบั้มให้ศิลปินสักวง จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเอาการ

“ตอนนั้นก็จะมีหลายวงออกอัลบั้ม แต่ปัญหาคือ ขอสปอนเซอร์ยาก และไม่มีเงินทำอัลบั้ม เราก็เลยมองกลับว่า เอางี้แล้วกัน ไหนๆมันทำค่ายจริงๆไม่ได้ เราก็ทำค่ายแยกต่างหากเลย โดยที่เอา NSI มาทำเป็นอัลบั้ม เรามาคิดว่าทำไมเราต้องหาเงินมาทำอัลบั้มแล้วก็ขาย เราเลยมาสร้างโมเดลว่า เราจะมีเงินกองกลาง ให้วงหนึ่งไปทำอัลบั้ม พอขายได้ก็เอามาคืนกองกลางเพื่อให้วงอื่นเอาไปทำอัลบั้มต่อ มันก็น่าจะอยู่ได้ ศิลปินก็ไม่น่าจะเจ็บตัว”

“Minimal มักจะออกเป็นอัลบั้ม ซึ่งมันก็พัฒนามาจาก NSI ที่เป็นแบบ Compilation แต่จะเริ่มเป็นธุรกิจ เป็นระบบมากขึ้น ไปเล่นดนตรีอาจจะต้องมีค่าตัว ทำอะไรต้องได้เงิน ได้ทุน แต่ไม่ได้ต้องการมากมาย ขอแค่ให้นักดนตรีมีลมหายใจ มีแรงในการดีดกีตาร์”


เมื่อเราถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับวงดนตรีในเชียงใหม่ และมุมมองการพัฒนาของวงการนี้ ผ่านมุมมอง สายตาของเมธซึ่งเรียกได้ว่าผ่านยุคแรกเริ่มมาแล้ว เขาได้บอกกับเราถึงความไม่จีรังของวงการดนตรีเชียงใหม่ในปัจจุบัน ที่เกี่ยวข้องกับนักดนตรีรุ่นใหม่ ๆ เช่นกัน

“วงดนตรีมันมีเยอะก็จริงนะ แต่เราไม่รู้ว่าเขามีจุดยืนของเขาหรือเปล่า เช่น คนเก่งบางทีไม่ได้ต้องการจะทำเพลง หรือทำอัลบั้ม หรือไม่ได้ต้องการจะเล่นคอนเสิร์ต คนไม่เก่งบางทีก็แค่อยากเล่นดนตรี บางทีก็อยากมีอัลบั้ม เพราะฉะนั้นมันแปลว่าใครๆก็เป็นได้ไม่ว่าจะเก่งหรือไม่เก่ง เพราะฉะนั้นเราตัดตรงนี้ไป เราก็จะพูดถึงว่าการพัฒนา เดี๋ยวนี้อะไรก็ง่าย เพราะคนทำเพลงเยอะ แต่มันจะเฝือไป คือออกมาเยอะ แล้วเด็กสมัยนี้จิตไม่นิ่ง คือ ด้วยงานที่มันง่ายขึ้น พอทำเสร็จก็ปล่อยขึ้นยูทูป คนกดไลค์ กดแชร์เป็นหมื่น เย้ ! ดีใจ หลังจากนั้นก็เลิก พอถามว่าทำไมเลิก ก็บอกว่า ผมไม่ชอบแล้ว ผมชอบแนวอื่นแล้ว มันก็เป็นแบบนี้”

“มันไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่ชอบดนตรี ก็ ทำ ทำ ทำ กลั่นจนมันออกมา แต่เด็กสมัยนี้ ยังไม่ทันจะกลั่นเลย ไม่ชอบละ จะเปลี่ยนละ เพราะสมัยนี้เจอแฟชั่นเยอะ เจอดนตรีเยอะ เพราะฉะนั้นสมัยนี้มันไวมาก แต่อีกมุมหนึ่งมันก็อาจจะดีก็ได้ที่ได้ฟังดนตรีหลายแนว แต่สำหรับค่ายเรา มีปัญหาแน่ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าจะเอายังไงกับเขาดี เพราะฉะนั้นคุณก็ไม่ต้องมีค่าย คุณก็เล่นอยากที่คุณเล่นไป เล่นๆเลิกๆชอบๆไม่ชอบก็เลิก ไม่มีเป้าหมาย เป้าหมายเดียวคือยอดไลค์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับดนตรีเลย เกี่ยวกับการยอมรับและแฟชั่นมากกว่า อันนั้นน่ากลัวมาก สำหรับนักดนตรีรุ่นใหม่”

เช่นกันกับค่าย Minimal ซึ่งกำลังเติบโต การวางเป้าหมายก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเมธก็ได้พูดถึงเป้าหมายของค่าย และมุมมองการพัฒนาด้วย

“สำหรับค่ายเราจะวางเป้าหมายไม่ไกล จะวางใกล้ๆ แล้วค่อยทำ ค่อยเป็นค่อยไป แล้วระหว่างทางเราเชื่อว่าก็จะมีรายละเอียดบางอย่างที่จะบอกเราเองว่าทางต่อไปควรจะเป็นยังไง เหมือนวิจัยและแก้ปัญหาไปตลอดเวลา อย่างเป้าล่าสุดของเรา เพิ่งจบไปกับคอนเสิร์ตวง สภาพสุภาพ เราก็ได้เป้าใหม่มาแล้วว่า Line production ของเราหลังจากนี้ ศิลปินน่าจะจบที่คอนเสิร์ต หลังจากที่เมื่อก่อนคิดว่ามันยากมากที่ศิลปินเชียงใหม่จะมีคอนเสิร์ตต่อวงเป็นของตัวเอง แต่พอเราลองทำ มันก็ทำได้”

อีกสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นจุดสำคัญที่เมธต้องการ คือการที่ทำให้ศิลปินเชียงใหม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยไมจำเป็นที่ต้องโดนดูดไปอยู่กรุงเทพเสียหมด

“ เป้าหมายสูงสุดของค่ายคือ หนึ่ง ศิลปินมีตังค์กินข้าว สองคือ ที่อื่นอยากเล่นก็จ้างเราไปสิ

เราจะไม่ไปจากที่นี่ ที่เชียงใหม่นี้ เราจะทำยังไงก็ได้ที่จะทำให้คนรู้จักศิลปินเชียงใหม่ โดยที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ ไม่ใช่ย้ายไปอยู่ที่กรุงเทพ เราก็ไม่ได้แอนตี้นะ แต่ที่นี่มันก็ควรจะมีรากฐานบ้าง ”

แต่ก่อนเคยมีคนบอก จะฟังดนตรีต้องฟังจากกรุงเทพก่อน เราก็ไม่อยากได้ยินคำนั้น เราก็เลยมาทำตรงนี้เลย ดูว่ามันจะเป็นยังไง ดีกว่าคนที่เอาแต่ด่าแล้วไม่ทำ ดีไม่ดี ก็ค่อยมาดูกัน

เมื่อเราถามถึงความยากในการทำค่ายเพลงในเชียงใหม่ ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังมองว่ายากที่จะทำสำเร็จ เพราะไม่ใช่เมืองหลวง เมธก็ได้พูดกับเราถึงประเด็นนี้ ซึ่งความแตกต่าง ข้อด้อย ข้อดี ระหว่างค่ายเพลงต่างจังหวัด และในเมืองหลวงก็มีต่างกัน

“คนอื่นเขาก็มองต่างๆนานา แต่เราลองทำแล้ว เราคิดว่ามันพัฒนาได้ ถ้านักดนตรีดีจริง อีกอย่างเชียงใหม่มีพื้นที่ มีเวลาให้ได้คิดเยอะ มากกว่ากรุงเทพ ทำให้งานดูน่าสนใจ แต่ศิลปินต้องดี ต้องใส่ใจ แต่จนแล้วจนรอดยังไงเราก็สู้ฝั่งโน้นไม่ได้เพราะเรื่องสื่อ และ PR เรามีแค่ Chanel ใน youtube หรือ facebook มันก็ได้แค่กลุ่มเล็กๆ แต่มันก็ยังดีกว่าเราไม่ทำ”

เราอาจเรียกได้ว่าเมธคืออีกบุคคลหนึ่ง ที่ต้องการจะผลักดันวงการดนตรีเชียงใหม่ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง และฝีมือ โดยที่ไม่ต้องมีแนวคิดที่ว่า อยากดังต้องไปกรุงเทพ ในด้านหนึ่งเขาคืออาจารย์ แต่อีกด้านหนึ่งเขาคือบุคคลที่ส่งเสริมฝัน และแรงบันดาลใจให้กับนักดนตรียุคใหม่ๆเช่นกัน เราได้ถามถึงแรงผลักดันหรือปรัชญาในชีวิตของเขาด้วย

“ผมมองว่าคำคมพวกนี้มันเหมือนคำปลอบใจมากกว่า มันมีเยอะนะ เลยไม่ตายตัว และก็แล้วแต่สถานการณ์ที่เจอในช่วงนั้นๆด้วย แต่สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมจริงๆก็คงจะเป็นงาน เป็นสิ่งที่เรารักนั่นแหละ ในเมื่อเราชอบ เราก็ทำมันไปได้เรื่อยๆ สนุกกับมันไปได้เรื่อยๆ แล้วก็ทำอะไรก็ได้ในโลกนี้ ที่มันไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ซึ่งเราเองก็ยึดตรงนี้มาตลอดเช่นกัน”

คงไม่เกินเลยนักหากจะกล่าวว่าจุดแรกเริ่มอะไรก็ตาม คือสิ่งที่ยากที่สุด แต่หากไม่มีการเริ่ม หรือไม่มีกลุ่มบุคคลที่มีความคิดริเริ่ม มีความตั้งใจจะทำ และลงมือทำจริงๆ แน่นอนว่ารากฐานมันก็จะไม่มี และเมื่อไม่มีการเริ่ม การเติบโตก็จะไม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับวงการดนตรีในเชียงใหม่ ที่เราอาจมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะไปสู้กับค่ายยักษ์ใหญ่ในกรุงเทพ และศิลปินในเชียงใหม่ก็ยากที่จะมีชื่อเสียงหากไม่ย้ายไปสู่เมืองหลวง แต่ในมุมมองของเมธ ทุกอย่างมันเป็นไปได้หมด เมื่อเรามีความตั้งใจ และลงมือทำอย่างแท้จริง

แน่นอนว่าเชียงใหม่คงไม่ได้ก้าวมาเป็นศูนย์กลางของดนตรีในประเทศไทยในเร็ววันอย่างแน่นอน แม้เชียงใหม่จะมีทรัพยากรบุคคลทางดนตรีที่มีแนวคิดน่าสนใจเยอะ แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่ม ค่ายดนตรีเล็กๆในเชียงใหม่เหล่านี้ ยังคงมุ่งมั่นทำในสิ่งที่เขาเชื่อ ร่วมกันกับพี่น้องนักดนตรีในเชียงใหม่อีกหลายๆกลุ่ม ด้วยความเชื่อมั่นว่าสักวัน วงการดนตรีเชียงใหม่จะสามารถก้าวไปถึงจุดที่สามารถดึงดูดคนมาสนใจและลงทุนโดยที่มีฐานที่มั่นอยู่ที่เชียงใหม่ได้โดยไม่ต้องจำกัดแค่ในเมืองหลวงอีกต่อไป

เรื่องราวชีวิตของ  Humans of  Chiang Mai คนต่อไปจะเป็นใคร ติดตามกันได้ที่นี่ และถ้าหากใครมีบุคคลแห่งแรงบันดาลใจที่อยากแนะนำ ก็อย่าลืมแวะมาเม้นท์มาแชร์ให้เราได้รู้ตามช่องคอมเม้นท์ด้านล่าง หรือ
  
จะได้ตามไปเจาะลึกกันอย่างทันท่วงที ราตรีสวัสดิ์ครับพี่น้องชาวเชียงใหม่

Relate Posts :